ข้อไหล่เคลื่อน ได้อย่างไรในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
ข้อไหล่เคลื่อน เกี่ยวกันอย่างไร ในผู้ป่วย stroke หรือ โรคหลอดเลือดสมอง หลายๆคนอาจคิดว่ามีแค่อาการอ่อนแรงของแขนและขาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลังจากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หากไม่ได้รับการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟู และการกระตุ้นอย่างถูกวิธี อาจมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นแผลกดทับ กล้ามเนื้อฝ่อลีบ กล้ามเนื้อหดสั้น ข้อติด ความดันตกขณะเปลี่ยนท่าทาง และยังมีหนึ่งภาวะที่พบมากในผู้ป่วยหลอดเลือดสมองนั่นคืออาการปวดไหล่ที่เกิดจากการเคลื่อนของข้อไหล่ (Shoulder Subluxation) เรามาทำความเข้าใจคลายข้อสงสัยกันเลยดีกว่าครับ ว่าภาวะข้อไหล่เคลื่อนนี้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไร มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
Shoulder Subluxations หรือ ข้อไหล่เคลื่อน ผู้ที่เป็นมักจะมีอาการปวดไหล่ร่วมด้วย เกิดมากในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง สาเหตุมาจากการที่กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่มีการอ่อนแรง มีความตึงตัวลดลง ทำให้ไม่สามารถพยุงข้อไหล่ไว้ได้ กระดูกต้นแขน (Humerus bone) จึงค่อยๆเคลื่อนตกตามแรงโน้มถ่วงออกมาจากเบ้าของกระดูกสะบัก (Glenoid fossa) เกิดเป็นช่องว่างขึ้น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณนั้นถูกยืดออกส่งผลให้เกิดอาการปวด แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าตอนนี้เรามีภาวะข้อไหล่เคลื่อน ทดสอบโดยการสังเกตและใช้นิ้วมือวัดดูบริเวณช่องว่างของกระดูกต้นแขนกับเบ้าของข้อไหล่ หากห่างกันเกิน 1 finger breadth หรือ 1 นิ้วมือ แสดงว่ามีภาวะนี้ เมื่อเรารู้สาเหตุการเกิดแล้ว เรามาพูดถึงวิธีการรักษาและการป้องกันภาวะข้อไหล่เคลื่อนไปพร้อมๆกันครับ
วิธีป้องกันภาวะข้อไหล่เคลื่อนสามารถทำได้โดย
1.สวมใส่อุปกรณ์พยุงแขนที่เรียกว่า Bobath sling หรือ Arm sling เพื่อพยุงข้อไหล่ไม่ให้เคลื่อนตกลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก สวมใส่ไว้ขณะนั่ง ยืน เดิน หรือทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ
2.จัดท่าทางขณะนอนและขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ให้อยู่ในท่าทางที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการยกหรือดึงแขนผู้ป่วยซึ่งเป็นท่าทางที่ส่งผลให้เกิดอาการปวด
3.การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณรอบข้อไหล่
จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีภาวะข้อไหล่เคลื่อนและมีอาการปวดไหล่ร่วมด้วย หากได้รับการป้องกัน กระตุ้น รักษา ฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดอย่างถูกวิธี โดยกระตุ้นการทำงานและออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ ร่วมกับการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า(TENs) การประคบร้อนเพื่อลดการตึงตัวของกล้ามเนื้อ การประคบเย็นเพื่อลดอาการอักเสบ และการใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงแขน หากปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลให้อาการปวดบริเวณข้อไหล่ค่อยๆลดลง สามารถยกแขนได้องศาการเคลื่อนไหวที่เพิ่มมากขึ้น และยังเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่อาจเกิดตามมาได้ เช่น กล้ามเนื้อหดสั้น กล้ามเนื้อฝ่อลีบ ข้อติด แผลกดทับ เป็นต้น พอเข้าใจกันแล้วใช่ไหมครับว่าภาวะนี้สามารถป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัดได้ อีกทั้งกายภาพบำบัดยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูร่างกายต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย
dislocated shoulder how in patients with cerebrovascular
dislocated shoulder How is it related in patients with stroke or cerebrovascular disease? Many people may think that there is only weakness in the arms and legs. but in fact after a stroke Without proper prevention, treatment, recovery, and stimulation, There may be other complications. that may follow whether it is a pressure ulcer muscle atrophy Muscle contraction, joint stiffness, pressure drop while changing posture And there is one condition that is very common in patients with cerebrovascular disease, which is shoulder pain caused by shoulder dislocation (Shoulder Subluxation). how this dislocation of the shoulder can occur How to prevent
แหล่งอ้างอิง
- กนกวรรณ ศรีสุภรกรกุล. (2008). การป้องกันและการรักษาอาการปวดไหล่ในผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกโดยวิธีการทางกายภาพบำบัด. Chula med, 6(52), 393-403.
2.ปิยะภัทร พัชราวิวัฒน์พงษ์. (2002). Common problems of upper extremity in stroke patients. เวชศาสตร์ฟื้นฟูสาร ,12(2), 44-62.