ทักษะ ความคิด และความเข้าใจ ฟื้นฟูได้อย่างไรในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง
ทุกคนคงทราบกันดีว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองนอกจากจะต้องรักษาฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัดแล้ว ยังต้องมีการฝึกทักษะทางด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การฝึกทักษะ ความคิด ความเข้าใจ การตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา การปรับตัว การจดจำ และการรับรู้วัน เวลา สถานที่ เป็นต้น ซึ่งทักษะเหล่านี้มีความสำคัญต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การดำเนินชีวิต การกลับไปทำงาน รวมไปถึงการเข้าสังคม ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะมีความบกพร่องทางด้าน ความคิด และความเข้าใจ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับวิธีการฝึกทักษะ ความคิด ความเข้าใจ (Cognitive function) ไปพร้อมๆกันค่ะ
Cognitive function คือ กระบวนการทำงานของสมองด้านการคิด ความเข้าใจ การรับรู้ข้อมูล การจดจำ การแก้ไขปัญหา การตัดสินใจ การปรับตัว และการวางแผน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้มีความจำเป็นต่อความสามารถในการดำเนินชีวิต การทำกิจวัตรประจำวัน การทำกิจกรรมง่ายๆหรือซับซ้อน การทำงาน และการเข้าสังคม ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีปัญหาแตกต่างกันออกไป โดยวันนี้จะมาแนะนำตัวอย่างวิธีการฟื้นฟูเพื่อกระตุ้นทักษะทาง ความคิด ความเข้าใจทั้ง 4 ด้าน ดังนี้
- การรับรู้วัน เวลา สถานที่ (Orientation)
- การฝึกกระตุ้นการรับรู้วัน เวลา สถานที่ (Orientation in time and space) โดยกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับรู้วันเวลาและสถานที่ จากการพูดคุยสื่อสาร จากปฏิทินหรือหนังสือพิมพ์รายวัน จะช่วยพัฒนาด้านการรับรู้ข้อมูลต่างๆและจดจำ
- ความสนใจจดจ่อ (Attention)
- การฝึกสมาธิ (Meditation technique) โดยเป็นการฝึกหายใจเข้าลึกหายใจออกยาว ร่วมกับนับลมหายใจของตนเอง ประมาณ 15 นาทีทุกวัน จะช่วยพัฒนาด้านความสนใจจดจ่อหรือสมาธิ
- ความจำ (Memory)
- เกมการ์ดจับคู่ (Memory game) โดยให้เล่นเกมจับคู่ภาพเหมือนจำนวน 10 คู่พร้อมจับเวลาขณะทำกิจกรรม ใช้เวลาในการเล่นประมาณ 60 นาทีต่อวัน ทำ 1 วันต่อสัปดาห์ จะช่วยพัฒนาการด้านความจำ
- การบริหารจัดการ (Executive functions)
- การวางแผนประจำวัน (Planning) โดยให้ผู้ป่วยเขียนกิจกรรมต่างๆที่จะทำลงในสมุด จัดลำดับก่อนหลัง กําหนดเวลา และติดตามการทำตามแผนทุกวัน จะช่วยพัฒนาด้านการวางแผนและการจัดลำดับ
- การเล่นเกมโดมิโนหรือเกมหมากฮอส โดยใช้ผู้เล่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ซึ่งผู้เล่นสามารถสร้างกลยุทธ์ของตนเองในการเล่นเกมได้อย่างอิสระ ใช้เวลาเล่นประมาณ 60 นาทีทุกวัน จะช่วยพัฒนาด้านการบริหารจัดการ การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหา
สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เเค่จากการฟื้นฟูทางร่างกาย เเต่ยังรวมไปถึงการฟื้นฟูทางทักษะความคิดและความเข้าใจด้วย เพราะจะทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันและกลับเข้าสู่สังคมได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
เอกสารอ้างอิง
1.รักฤทัย คันธี, จนัญญา ทิพย์พยอม, พีรยา มั่นเขตวิทย์. ผลของโปรแกรมฝึกความคิดความเข้าใจต่อความสามารถด้านความคิดความเข้าใจในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอบ. วารสารเทคนิคการแพทย์เชียงใหม่. 3 กันยายน 2559; 49(3): 298-306.
2.Brum PS, Forlenza OV, Yassuda MS. Cognitive training in older adults with Mild Cognitive Impairment: Impact on cognitive and functional performance. Dement Neuropsychol 2009 June; 3(2): 124-131.
3.Poonlert H, Puwarawuttipanit W, Pongthavornkamol K, Nilanont Y. The Effect of Executive Training Program on Cognitive Functions in Patients with Minor Stroke. Nursing Science Journal of Thailand. 2020; 38(3): 50-62.