ผู้สูงอายุที่ นอนติดเตียง ควรดูแลอย่างไร
ในปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุที่ นอนติดเตียง มีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน และผู้สูงอายุ นอนติดเตียง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย ใครมีผู้สูงอายุที่ต้องดูแล ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยยิ่งต้องให้ความสำคัญ และต้องเอาใจใส่สังเกตทั้งเรื่องสุขภาพร่างกายและสุขภาพใจ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี คนในครอบครัวต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ ของผู้สูงอายุ รวมไปถึงการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
อาการ “นอนติดเตียง ” สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะเสื่อมโทรม จนต้องนอนอยู่บนเตียงอย่างเดียวตลอดเวลาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ บางรายอาจจะพอขยับร่างกายบางส่วนได้บ้างเคลื่อนไหวได้ หรือบางรายอาจไม่รู้สึกตัวเลย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยมีอาการนอนติดเตียง มักเกิดจากโรค อุบัติเหตุ รวมถึงจากการผ่าตัดใหญ่ สิ่งที่ตามมาจากภาวะการนอนติดเตียง คือผลข้างเคียงที่นำพาไปสู่การเสียชีวิต เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินปัสสาวะ เกิดแผลกดทับ การขาดอาหารอย่างรุนแรง การดูแลผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง จึงจำเป็นต้องดูแลอย่างใกล้ชิดด้วยความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้อง เป้าหมายการดูแล ฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียง
ขั้นตอนการดูแลหลักๆ ในกรณีผู้ป่วย นอนติดเตียง มี 3 ข้อ โดยให้ความสำคัญในส่วนของผู้ดูแล เพื่อปฏิบัติตัวกับผู้ป่วยได้ถูกต้อง
1.เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด ไม่มีแผลกดทับ ลดการติดเชื้อ ลดอาการข้อติด ไม่ขาดสารอาหาร มีความสะอาด การขับถ่ายถูกหลักอนามัย
2.ลดภาระการนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในแต่ละครั้ง มีเรื่องค่าใช้จ่ายรวมถึงมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้าย
3.การทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟู ลดปัญหาข้อติด เพิ่มกำลังกล้ามเนื้อ หรือชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อ และฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันให้ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงที่ควรเฝ้าระวัง เมื่อผู้สูงอายุนอนติดเตียง
1.แผลกดทับจากการนอนนิ่งๆ เป็นเวลานาน
สาเหตุการเกิดแผลกดทับ คือการที่ผู้ป่วยนอนนานๆ บริเวณที่เป็นปุ่มกระดูกต่างๆ เหล่านี้จะขาดเลือดมาเลี้ยงที่ผิวหนัง จึงทำให้เซลล์บางตัวตายจนเป็นแผลไปเรื่อยๆ สามารถเกิดขึ้นได้หลายจุด เช่น ท้ายทอย สะบัก ศอก สะโพก กระดูกก้นกบ ส้นเท้า เป็นต้น ในระยะแรกอาจเกิดอาการลอกแค่ที่ผิว แต่พอนานวันเข้าก็อาจจะลอกไปจนถึงชั้นกล้ามเนื้อ หรืออาจจะถึงชั้นกระดูก และเมื่อร่างกายปราศจากผิวหนังซึ่งทำหน้าที่ปกคลุมเเล้ว โอกาสเกิดการติดเชื้อจึงมีมากขึ้น และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
การป้องกัน และหลีกเลี่ยงการเกิดแผลกดทับ ผู้ป่วย นอนติดเตียง ที่ไม่สามารถพลิกตัวเองได้เองจึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแล ควรพลิกตัวผู้ป่วยทุกๆ 2 ชั่วโมง พร้อมเปลี่ยนท่าในการนอนใหม่ เช่น นอนหงาย นอนตะแคงสลับกันไป หลีกเลี่ยงความยับย่นของเสื้อผ้า โดยประเมินจากสภาพผิวหนัง และการทำความสะอาดผิวหนัง ไม่ควรให้เปียกชื้น ควรมีอุปกรณ์เสริมเพื่อลดแรงกดทับ เช่น ฟองน้ำ ที่นอนลม หมอนผ้านุ่มๆ เจลรองปุ่มกระดูก
2.ภาวะกลืนลำบาก
สาเหตุของภาวะกลืนลําบากที่พบได้บ่อย คือความผิดปกติทางช่องปาก และคอหอยในผู้สูงอายุ คือโรคหลอดเลือดสมอง และภาวะสมองเสื่อม ซึ่งภาวะกลืนลำบาก มีความเสี่ยงต่อการลำลักในขณะรับประทานอาหาร อาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ เพราะเศษอาหารหลุดเข้าไปที่หลอดลม และที่แย่ไปกว่านั้น คือเศษอาหารชิ้นใหญ่อาจเข้าไปอุดหลอดลมได้ ดังนั้น ผู้ดูแลควรปรับเตียง 45-90 องศา จับลุก นั่งบนเตียง โดยใช้หมอนช่วยดันหลังให้ทรงตัว นอกจากนี้ ควรปรับอาหารให้เหมาะสมการปรับอาหาร (Dietary modification) เป็นวิธีการรักษาที่มีความสําคัญ อาจเริ่มจากการให้อาหารข้น แต่ในปริมาณน้อยก่อน เช่น โจ๊กปั่น เพื่อดูว่าผู้ป่วยที่นอน ติดเตียง สามารถกลืนได้หรือไม่ รวมถึงไม่รีบป้อนอาหาร ควรก้มคอกลืนอาหารที่ป้อน ห้ามแหงนคอไปข้างหลัง และหยุดป้อน หากมีอาการสำลักทันที
3.ความสะอาด
การชำระล้างร่างกาย และการขับถ่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ดูแลไม่ควรละเลย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปภายในร่างกาย เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสการติดเชื้อได้ง่าย ดังนั้น ผู้ดูแลควรเปลี่ยนสายสวนปัสสาวะให้ผู้ป่วยเป็นประจำทุก 2 – 4 สัปดาห์ และทำความสะอาดสายด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ทุกครั้ง หากพบว่าปัสสาวะของผู้ป่วยมีสีขุ่น ข้น หรือปัสสาวะไม่ออกควรรีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที หมั่นดูแลความสะอาดในการขับถ่าย เพื่อป้องกันการรับเชื้อต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งการดูแลช่องปาก และฟัน
4.ภาวะสุขภาพจิต
ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย ติดเตียง นอกจากจะมีปัญหาเรื่องสุขภาพจากความเสื่อมถอยของร่างกายแล้ว ปัญหาด้านสภาพจิตใจก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้ดูแลจำเป็นต้องเอาใจใส่ เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีภาวะของโรคแตกต่างกัน แต่สิ่งที่คล้ายกัน คือความเบื่อหน่าย และความทุกข์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้ดูแลสามารถหากิจกรรมต่างๆ มาทำร่วมกับผู้ป่วย เพื่อผ่อนคลาย และลดความเศร้าลง ทำให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ หรือผู้ดูแลควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยอย่าง เหมาะสม และความปลอดภัย
5.การทำกายภาพบำบัด
ปัญหาที่ตามมาจากการนอน ติดเตียง นานๆ คือข้อติด กล้ามเนื้อฝ่อลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยพาออกกำลังเพิ่มองศาเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆตามร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พานั่งเพื่อทำกิจกรรม หรือถ้าหากคนไข้มีแรงจะมีการพายืนข้างเตียง และพาเดิน
การดูแลผู้ป่วย ติดเตียง จะต้องดูแลตามที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อไม่ให้เกิดถึงสภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาภายหลัง ทั้งเรื่องแผลกดทับ การทานอาหาร การดูแลความสะอาด และการทำกายภาพบำบัดเพื่อไม่ให้เกิดข้อติดและฟื้นฟูให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ไม่ให้จำกัดการใช้ชีวิตแค่บนเตียง หรือบางรายอาจจะสามารถฟื้นฟูได้ถึงขั้นสามารถกลับมาเดินได้เอง
อ้างอิง
โรงพยาบาลเปาโล, 5 สิ่งต้องระวัง เมื่อผู้สูงอายุที่บ้านนอนติดเตียง , วันที่ 1 เมษายน 2566 จาก https://www.paolohospital.com/th-TH/phahol/Article/Details/
นพ.ภาณุวัวัฒก์ ว่องตระกลูเรือง, การดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสมที่คนในครอบครัวควรรู้ , วันที่ 1 เมษายน 2566 จาก https://www.nakornthon.com/article/detail/