ผู้ป่วยหลับเยอะทำ กายภาพ บำบัดได้ไหม?

ผู้ป่วยหลับเยอะทำ กายภาพ บำบัดได้ไหม?

การนอนถือเป็นกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมการดำเนินชีวิตขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การนอนจะช่วยส่งเสริมสุขภาพ โดยเป็นการพักผ่อนร่างกายจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ระบบการทำงานของร่างกายได้พักผ่อน ได้รับการฟื้นตัวหลังจากทำกิจกรรมมาทั้งวัน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อให้เรานั้นสามารถไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

โรค hypersomnia

อาการง่วงนอนมาก หรือ Hypersomnia เป็นอาการที่มีความรู้สึกง่วงมาก ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน นอนหลับแล้วรู้สึกตื่นตัวยาก มีความรู้สึกไม่สดชื่น แม้ว่าจะนอนแล้วมากกว่า 9 ชั่วโมง เผลองีบหลับระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ขณะอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ขับรถ บางกรณีอาจทำพฤติกรรมบางอย่างโดยไม่รู้ตัว (พฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน) เนื่องมาจากความง่วงนอน

สาเหตุที่ทำให้นอนมากเกินไป

  • อดนอนเป็นเวลานานและบ่อยครั้งจนร่างกายพักผ่อนไม่พอ
  • ร่างกายแปรปรวน ปรับเวลาผิด เช่น การเดินทางข้ามประเทศที่ต่างช่วงเวลากัน
  • ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในสมองไม่ปกติ
  • นอนกรน มีภาวะการหยุดหายใจในช่วงนอนหลับทำให้ร่างกายรับออกซิเจนไม่พอ
  • สมองได้รับบาดเจ็บหรือโรคเกี่ยวกับทางสมอง
  • การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด
  • สุขภาพจิต เช่น ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า อาจมีเรื่องการนอนไม่หลับ

ผลกระทบจากการ นอนหลับมากเกินไป

  • สมองเฉื่อยชา สมองล้า กลายเป็นคนไร้ชีวิตชีวา
  • ประสิทธิภาพการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และข้อ ลดลงหากไม่มีการเคลื่อนไหวนาน ๆ
  • น้ำหนักเกิน เนื่องจากระบบการเผาผลาญไขมันลดลง มีการสะสมไขมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง และไขมันในเลือดสูง
  • ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ ของตนเอง อาจถูกตำหนิต่อว่าจากคนรอบข้าง เกิดความรู้สึกขาดคุณค่า และเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าได้
  • มากเกินไปรู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่อยากทำอะไร อยากนอนตลอดทั้งวัน         

การนอนของผู้สูงอายุ

การนอนในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก ซึ่งในผู้สูงอายุนั้นการนอนได้มีการเปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องมาจากการทำงานของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย ส่งผลให้รูปแบบ กระบวนการ รวมถึงระยะเวลาในการนอนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มักมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการนอน โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการนอนของผู้สูงอายุประกอบด้วย

  • การเปลี่ยนแปลงของวงจรการนอน ทำให้นอนหลับยากขึ้น ตื่นกลางดึกบ่อย นอนหลับไม่สนิท
  • ในวัยสูงอายุ เพศหญิงและเพศชายมีประสิทธิภาพการนอนที่ต่างกัน พบว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิงที่ลดลงนั้นทำให้ประสิทธิภาพการนอนของเพศหญิงน้อยกว่าเพศชาย
  • อาการเจ็บป่วยทางด้านร่างกาย เช่น อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในเวลากลางคืน อาการกระตุก บางท่านอาจมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับกลางดึกบ่อย ๆ หรือในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวานมักตื่นกลางดึกเพื่อเข้าห้องน้ำ เป็นต้น
  • ด้านจิตใจ ความเครียด ความกังวล หรือภาวะซึมเศร้า ส่งผลต่อการทำงานของสารในร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง
  • พฤติกรรมของผู้สูงอายุที่ส่งผลต่อการนอน เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน การสูบบุหรี่ หรือการทานยาบางชนิด เป็นต้น
  • ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม เช่น แสง เสียง อุณหภูมิ เครื่องนอน สมาชิกในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีหลาน ๆ วัยทารก อีกทั้งยังรวมถึงสัตว์เลี้ยงที่อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่รบกวนการนอนได้ 

ปัจจัยดังกล่าวล้วนส่งผลให้ประสิทธิภาพการนอนของผู้สูงอายุเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัญหาการนอนนั้นมีหลากหลายรูปแบบ อาจมีการแสดงที่แตกต่างกัน เช่น ปัญหาการนอนไม่หลับ นอนหลับยาก นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ตื่นนอนเร็วกว่าปกติ นอนหลับมากเกินไป เป็นต้น  ซึ่งการนอนที่ไม่มีประสิทธิภาพเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการดำเนินชีวิตในผู้สูงอายุ เช่น

  • รบกวนการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานต่าง ๆ ลดลง เช่น ทำกิจกรรมได้ไม่ต่อเนื่อง ไม่อยากทำกิจกรรม อยากนอนมากกว่า
  • ช่วงเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไป เช่น เวลาตื่น-เวลานอน เวลารับประทานอาหาร เวลาทานยา เวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันลดน้อยลง เป็นต้น
  • ขาดโอกาสในการทำกิจกรรมใหม่ ๆ การมีส่วนร่วม หรือโอกาสการเข้าถึงทางสังคมลดน้อยลง

ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้นผู้สูงอายุล้วนต้องใช้ทักษะ หรือกระบวนการต่าง ๆ ของร่างกายทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหว กระบวนการคิดความเข้าใจด้านต่าง ๆ ซึ่งหากการทำกิจกรรมลดลง แน่นอนว่าย่อมส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของทักษะเหล่านั้นลดลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพทางร่างกายที่ลดลงไป เช่น เหนื่อยง่าย พละกำลังลดลง ความคล่องแคล่วลดลง เป็นต้น และส่งผลต่อกระบวนการคิดความเข้าใจ เช่น ส่งผลต่อสมาธิ ความจำ การรับรู้ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการให้คุณค่าในตนเองและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้

        การงีบหลับระหว่างวันดีต่อผู้สูงอายุหรือไม่ ?

    นอกเหนือจากการนอนในช่วงกลางคืนแล้ว ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีการนอนระหว่างวัน หรือเรียกว่า “การงีบ” ซึ่งมีการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุมากกว่า 50 % มีการงีบระหว่างวัน ( ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มาก การงีบถือเป็นกิจกรรมพักผ่อนอย่างหนึ่งที่ส่งผลดีต่อผู้สูงอายุ การงีบระหว่างวัน ประมาณ 30-60 นาที จะช่วยให้ผู้สูงอายุตื่นตัว พร้อมในการทำกิจกรรมระหว่างวันมากขึ้น ช่วยในเรื่องของภาวะอารมณ์ ลดภาวะซึมเศร้า ส่งเสริมการทำงานของสมองในส่วนของกระบวนการคิดและความเข้าใจ และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น 

แต่หากงีบนานเกินไปก็อาจจะส่งผลเสียได้เช่นกัน โดยจะส่งผลให้นอนหลับยากในช่วงเวลากลางคืน เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุควรใช้เวลาในการงีบที่เหมาะสม และไม่ควรงีบหลังจาก 15.00 น. หรือช่วงเย็น เนื่องจากจะส่งผลต่อวงจรการนอน และทำให้เกิดผลเสียอื่น ๆ ตามมาได้

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพการนอนที่ดี มีผลดีต่อผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก การพักผ่อนที่เพียงพอ ไม่มาก ไม่น้อยจนเกินไป ประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน หรือการงีบระหว่างวันสั้น ๆ จะทำให้ผู้สูงอายุนั้นมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

     ผู้ป่วยหลับเยอะ ทำกายภาพบำบัดได้ไหม?

      ผู้ป่วยหลับเยอะ สามารถทำ กายภาพ บำบัดได้ เพราะการออกกำลังกาย  การเคลื่อนไหวร่างกายหรือการทำกิจกรรม จะกระตุ้นการทำงานของสมอง จะช่วยเพิ่มระดับสารสื่อประสาทได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็น โดพามีน (Dopamine) เซโรโทนิน (Serotonin) และนอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) ช่วยให้คุณอารมณ์ดีขึ้นทันทีจากการออกกำลังกาย ช่วยเพิ่มความสามารถเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสมาธิได้ และการที่คุณมีสมาธิที่ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและเซลล์สมองได้ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนของออกซิเจนที่ช่วยในการหล่อเลี้ยงสมอง และพัฒนาเลือดให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายตื่นตัวดี แต่ก็มีข้อควรระวัง ก่อนทำกายภาพบำบัดต้องประเมินเรื่องของอาการเวียนหัว ความดัน  ถ้ามีเวียนหัวเยอะบ้านหมุน ความดันต่ำ ให้ผู้ป่วยพักก่อนแล้วทำการวัดซ้ำ อาการดีขึ้น ความดันปกติ สามารถทำกายภาพบำบัดได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ให้งดทำกายภาพบำบัดก่อน

     แต่ถ้าทำกายภาพบำบัดแล้วผู้ป่วยหลับอยู่ ยังไม่ตื่นตัวดี ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้

เนื่องจากอยู่ในสภาวะไม่พร้อม เมื่อทำกายภาพบำบัด สมองไม่ได้มีการตื่น ไม่สามารถเรียนรู้การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการทำกิจกกรรม ทำให้ประสิทธิภาพในการทำกายภาพบำบัดน้อยลง และขณะออกกำลังกายหรือทำกิจกรรม จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงล้ม เซและไม่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายไม่ได้

อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

FACEBOOK :: ReBRAIN

Ref.

  1. American occupational therapy association. Occupational therapy practice framework: domain and process (4th ed.). Am J Occup Ther[internet]. 2020 [Cited 2021 Oct 10]; 74(2):1-87. Available from: https://doi.org/10.5014/ajot.2020.74S2001.
  2. Patel D, Steinberg J and Patel P. Insomnia in the elderly: a review. J Clin Sleep Med. 2018;14(6):1017-24.
  3. สุรีรัตน์  ณ วิเชียร. การนอนหลับของผู้สูงอายุในชุมชน. วารสารสภาการพยาบาล. 2564; 18-31.
  4. Panpanit L. Sleep problems in older people and nursing management. Nurs Health Sci. 2020;43(1):139-50.
  1.   มหาลัยมหิดล./2021/การนอนหลับในผู้สูงอายุ./December 21 2021.

       /https://pt.mahidol.ac.th/knowledge/?p=2474

 

โทร.
Scroll to Top