ฝังเข็ม vs กายภาพบำบัด กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ฝังเข็ม สามารถทำให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองฟื้นตัวได้หรือไม่ เมื่อเทียบกับการรักษาทางกายภาพบำบัด

ฝังเข็ม เป็นวิธีการรักษาทางศาสตร์แผนจีนที่มีมาอย่างช้านาน โดยการรักษาฝังเข็มจะเน้นการปรับร่างกายให้เข้าสู่สภาวะสมดุล การฝังเข็มสามารถใช้การรักษากับโรคต่างๆได้ เช่น ปวดศีรษะ ความเครียด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์และอัมพาต วันนี้ทาง ReBRAIN จะมาพูดถึงการรักษาด้วยการฝังเข็มกับการรักษาทางกายภาพบำบัดว่าสามารถทำการรักษาได้ร่วมกันหรือไม่ หรือ สามารถเลือกทำแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

โรคหลอดเลือดสมองในภาษาจีนเรียกว่า “จังเฟิง” ซึ่งหมายถึง อาการแสดงทางคลินิกคือหมดสติล้มลงฉับพลันทันที  ร่างกายซีกหนึ่งใช้การไม่ได้ดั่งใจคิด  ปากและลิ้นเบี้ยว พูดไม่ชัด ร่างกายซีกหนึ่งชา  หรือไม่มีอาการหมดสติมีเพียงแค่ปากและลิ้นเบี้ยว  ร่างกายซีกหนึ่งใช้การไม่ได้ดั่งใจคิดเป็นอาการหลัก  โดยการฝังเข็มในศาสตร์แผนจีนกล่าวว่า ในการรักษาด้วยการฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจากการศึกษาพบว่า การฝังเข็มจะไปช่วยทำให้หลอดเลือดขยายตัวเช่น หลอดเลือดบริเวณสมอง หัวใจและแขนขา เป็นต้น เมื่อกลับไปเลี้ยงบริเวณสมองมากขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองฟื้นตัวได้ดีขึ้นและการฝังเข็มจะช่วยลดการส่งกระแสประสาทจากสมองที่ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการหดตัวที่ผิดปกติจนเกิดอาการเกร็งได้

ซึ่งในวิจัยของ Ai Yang และคณะ ได้ศึกษาเรื่องการรักษาด้วยการฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระยะกึ่งเฉียบพลันและเรื้อรัง จำนวน 2257 คน พบว่าการฝังเข็มช่วยทำให้โอกาสการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองลดลงและการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลอดเลือดสมองดีขึ้นในหลายๆด้าน เช่น การรับรู้ความรู้สึก การทรงท่า  เป็นต้น

จากงานวิจัยของ L X Zhuangl และคณะ ได้ศึกษาการรักษาด้วยการฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัด จำนวน 271 คน พบว่า การฝังเข็มร่วมกับการรักษาทางกายภาพบำบัดมีประสิทธิภาพในการรักษาที่ใกล้เคียงกับการรักษาทางกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว

สำหรับการรักษาด้วยการฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะให้ผลการรักษาดีในช่วงระยะกึ่งเฉียบพลัน(Sub-acute) และระยะเรื้อรัง (Chronic) เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวสมองอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ฟื้นตัวได้ดีที่สุด ส่วนในระยะเฉียบพลันในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะไม่แนะนำให้ทำการฝังเข็ม

ข้อควรระวังสำหรับการฝังเข็มได้แก่ 1.สตรีมีครรภ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้คลอด จะไม่สามารถทนนอนหรือนั่งเป็นเวลานานๆได้  2. ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด 3. โรคมะเร็ง(ที่ยังไม่ได้รับการรักษา) 4. โรคที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ไส้ติ่งอักเสบ  5. ผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ(Pacemaker) ในกรณีที่รักษาการฝังเข็มร่วมกับการกระตุ้นไฟฟ้า 6. ผู้ป่วยที่ตื่นเต้นหวาดกลัวต่อการรักษามากเกินไป ทั้งที่ได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ยังควบคุมจิตใจตนเองไม่ได้ 7.ผู้ป่วยที่เหน็ดเหนื่อยจากการออกกำลังกายอย่างหนัก 8. ทารกเด็กเล็ก ผู้ป่วยทางจิต โรคสมองเสื่อม ที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการรักษาได้

อย่างไรก็ตามการรักษาสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายจะมีการตอบสนองต่อการรักษาได้แตกต่างกันไป จำเป็นต้องทำการตรวจร่างกายและต้องคอยสังเกตดูการเปลี่ยนแปลงของอาการระหว่างรักษาร่วมด้วย การฝังเข็ม การให้ยาแผนปัจจุบัน การทำกายภาพบำบัด เป็นแนวทางการรักษาหลักๆที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ดังนั้นการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างเดียว อาจจะไม่ช่วยทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ต้องรักษาควบคู่กับการรักษาอื่นๆด้วย จึงจำให้เห็นผลของการรักษาได้ดีที่สุด

References:

หนังสือการฝังเข็มรักษาโรคตามกลุ่มอาการ โดย ศาสตราจารย์เหยียนลี่ พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2556

บทความ ฝังเข็ม ทำไมรักษาอัมพฤกษ์-อัมพาตได้ โดย นพ.กิตติศักด์  เก่งสกุล โรงพยาบาลวิชัยยุทธ
ในการประชุมวิชาการและนิทรรศการ “TCM Services Open House”

Kjendahl A, Sallstrom S, Osten PE, Stanghelle JK, Borchgrevink CF. A one year follow-up study on the effects of acupuncture in the treatment of stroke patients in the subacute stage: a randomized, controlled study. Clinical rehabilitation. 1997;11(3):192-200.

 

Xu M, Li D, Zhang S. Acupuncture for acute stroke. The Cochrane database of systematic reviews. 2018;3:CD003317.

 

Yang A, Wu HM, Tang JL, Xu L, Yang M, Liu GJ. Acupuncture for stroke rehabilitation. The Cochrane database of systematic reviews. 2016(8):CD004131.

 

Zhuangl LX, Xu SF, D’Adamo CR, Jia C, He J, Han DX, et al. An effectiveness study comparing acupuncture, physiotherapy, and their combination in poststroke rehabilitation: a multicentered, randomized, controlled clinical trial. Alternative therapies in health and medicine. 2012;18(3):8-14.

อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

FACEBOOK :: ReBRAIN

โทร.
Scroll to Top