ภาวะกลืนลำบาก ปัญหาใหญ่ที่หลายๆคนกำลังเผชิญ 

ภาวะกลืนลำบาก ปัญหาใหญ่ที่หลายๆคนกำลังเผชิญ

ภาวะกลืนลำบาก จากบทความคราวที่แล้ว ที่เราได้เกริ่นเกี่ยวกับภาวะกลืนลำบาก และการฝึกกระตุ้นการกลืนของนักกิจกรรมบำบัดไป คราวนี้เราจะมาทำความเข้าใจให้มากขึ้นกันค่ะ

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการกลืนเบื้องต้นกันก่อนนะคะ
การกลืน เป็นกระบวนการส่งผ่านอาหารจากช่องปากไปสู่คอหอย หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร โดยอาศัยการทำงานร่วมกันของกล้ามเนื้อหลายส่วน
แบ่งการกลืนออกเป็น 3 ระยะ

  1. ระยะช่องปาก (Oral phase)
    คือ ระยะที่นำอาหารเข้าสู่ปากเพื่อให้ฟันบดเคี้ยวอาหาร และใช้ลิ้นคลุกเคล้าอาหารเพื่อให้พร้อมต่อการส่งต่อลงไปยังคอหอย
  1. ระยะคอหอย (Pharyngeal phase)
    เมื่ออาหารผ่านเข้าสู่คอหอย กล้ามเนื้อคอหอยจะทำการบีบไล่อาหารลงสู่หลอดอาหาร ซึ่ง
    ในระยะนี้จะเกิดการสำลักได้ง่าย ดังนั้นร่างกายจึงมีกลไกการป้องกันคือ ฝาปิดกล่องเสียงจะช่วยปิด
    กล่องเสียงป้องกันไม่ให้อาหารตกลงไปยังหลอดลม และปอด
  1. ระยะหลอดอาหาร (Esophageal phase)
    เมื่ออาหารเคลื่อนผ่านหูรูดหลอดอาหารส่วนบนแล้ว หลอดอาหารจะทำหน้าที่บีบไล่อาหารให้ ผ่านหลอดอาหารส่วนล่าง เข้าสู่กระเพาะอาหารเพื่อย่อย และดูดซึมสารอาหารต่อไป
    นักกิจกรรมบำบัดจะเข้าไปมีบทบาทหลักในการช่วยกระตุ้นฟื้นฟูการกลืน ในระยะช่องปาก และระยะคอหอยค่ะ

ภาวะ กลืนลำบาก คืออะไร?

กลืนลำบาก หรือ Dysphagia คือภาวะทีเกิดจากอวัยวะที่ควบคุมการกลืนผิดปกติ หรือบกพร่อง

(ริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม ฟัน ลิ้น คอหอย กล่องเสียง สายเสียง เป็นต้น) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ภาวะปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia) ทางเดินหายใจอุดกั้น ภาวะทุพโภชนาการ และคุณภาพชีวิตลดลง

การกลืนลำบาก จะพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพที่สมอง โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคทางระบบประสาท สามารถแบ่งตามบริเวณที่เกิดความผิดปกติได้แก่ เกิดจากความผิดปกติที่ช่องปากและคอหอย(สาเหตุหลักที่พบบ่อย) และเกิดจากความผิดปกติที่หลอดอาหาร(ซึ่งควรส่งต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง)

จะรู้ได้อย่างไรว่าอาจมีภาวะกลืนลำบาก?

ลักษณะอาการที่บ่งบอกว่ามีการกลืนลำบาก

  • มุมปากตก ปิดปากไม่สนิท มีน้ำลาย หรืออาหารไหลออกจากปาก
  • การเคลื่อนไหวของลิ้นบกพร่อง การเคี้ยวบกพร่อง
  • ไอ สำลัก หรือมีเสียงแหบพร่า ขณะ หรือหลังการกลืนอาหาร/น้ำ
  • กลืนยาก หรือรู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่บริเวณคอ กลืนช้า
  • กลืนไม่หมด มีอาหารตกค้างอยู่ในกระพุ้งแก้มหลังการกลืนอาหาร
  • เกิดปอดอักเสบติดเชื้อบ่อยครั้ง

วิธีการฟื้นฟูผู้ที่มีภาวะกลืนลำบากทำได้อย่างไรบ้าง?

สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

  1. การฝึกกระตุ้นโดยไม่ใช้อาหาร
  • การออกกำลังกายกล้ามเนื้อปาก ลิ้น คอหอย ลำคอ โดยเน้นให้ผู้ป่วยได้ออกแรงทำเองให้มากที่สุด หากไม่สามารถทำเองได้ หรือทำได้น้อย จะใช้การนวดกระตุ้นกล้ามเนื้อภายในช่องปาก/กล้ามเนื้อรอบปาก การกระตุ้นการรับความรู้สึกโดยใช้น้ำเย็น หรือน้ำที่มีรสชาติ เช่น น้ำมะนาว เป็นต้น หากกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนแข็งแรงพอ สามารถกลืนน้ำลายได้อย่างปลอดภัยไม่พบไอสำลัก นักกิจกรรมบำบัดจะมีการประเมินเพื่อการฝึกรับประทานอาหารทางปากต่อไป
  1. การฝึกกระตุ้นโดยใช้อาหาร
  • นักกิจกรรมบำบัดจะเข้ามามีบทบาทในการประเมิน ปรับลักษณะเนื้ออาหาร หรือลักษณะความหนืดของน้ำที่เหมาะสมปลอดภัย การปรับท่าทางขณะรับประทาน หรือให้คำแนะนำผู้ดูแลถึงวิธีการป้อนอาหารผู้ป่วยอย่างปลอดภัย นอกจากที่ในช่วงที่ฝึกโดยใช้อาหาร นักกิจกรรมบำบัดยังต้องพิจารณาถึงความทนทานในการรับประทานอาหาร ปริมาณอาหารที่เพียงพอต่อร่างกาย การรับประทานยาที่อาจจะต้องมีการบด หรือหั่นชิ้นเล็ก ตามความสามารถของผู้ป่วยแต่ละคน

โดยการฝึกในแต่ละแบบนั้น นักกิจกรรมบำบัดจะพิจารณาจากความตื่นตัวของผู้ป่วย ผู้ป่วยต้องตื่นตัวดี สามารถทำตามคำสั่งได้ นอกจากนี้หากจะเริ่มฝึกโดยใช้อาหาร ผู้ป่วยต้องสามารถกลืนน้ำลายของตนเองได้อย่างปลอดภัยก่อน

ผู้ที่มีการกลืนลำบากใส่สายให้อาหารทางจมูก หรือหน้าท้อง หรือผู้ที่เจาะคอสามารถกลับมารับประทานอาหารปกติทั่วไปได้หรือไม่?

เป็นคำถามที่เจอได้บ่อยมากค่ะ คำตอบก็คือ ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะกลับมารับประทานอาหารทางปากได้ และสามารถถอดสายให้อาหาร หรือผู้ที่เจาะคอก็สามารถรับประทานอาหารทางปากได้เช่นกัน แต่… ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะกลืนลำบาก และรอยโรคที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ลักษณะเนื้ออาหารของแต่ละตัวบุคคลก็จะแตกต่างกันไปด้วย บางคนอาจจะสามารถถอดสายให้อาหาร โดยการกลับมารับประทานอาหารปกติธรรมดาทั่วไปได้เลย แต่บางคนอาจจะถอดสายให้อาหารด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นอาหารสับละเอียดเท่านั้นจึงจะปลอดภัย หรือดื่มน้ำที่ต้องผสมสารช่วยทำความหนืดเท่านั้น เป็นต้นค่ะ

เอาล่ะค่ะ ตอนนี้ทุกคนเข้าใจเรื่องการบำบัดฟื้นฟูภาวะการกลืนลำบากของนักกิจกรรมบำบัดแล้วใช่มั้ยคะ สำหรับบทความหน้าเราจะพาไปดูเรื่องท่าทางในการออกกำลังกายกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืน และการป้องกันภาวะสำลักกันต่อค่ะ

dysphagia A big problem that many people are facing.

dysphagia from last article where we started with dysphagia and an occupational therapist’s swallowing stimulation training. This time we will understand more.

Let’s first understand the basic swallowing mechanism.
Swallowing is the process of passing food from the mouth to the pharynx, esophagus, and stomach. Based on the interaction of many muscles.

แหล่งอ้างอิง

1.สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. (2562). แนวทางทางเวชปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีภาวะกลืนลำบาก. นนทบุรี:  สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง.

2.กลุ่มวิจัยภาวะกลืนลำบาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2560). คู่มือการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก (พิมพ์ครั้งที่  2). ขอนแก่น:  หจก. โรงพิมพ์ คลังนานาวิทยา.

 

อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

FACEBOOK :: ReBRAIN

โทร.
Scroll to Top