นักกายภาพบำบัด (PHYSICAL THERAPY)
นักกายภาพบำบัดทำอะไร?? เป็นคำถามที่อยู่ในใจทุกคนใช่มั้ยครับ
วันนี้ ReBRAIN จะพาไปดูกันครับ ว่า กายภาพบำบัด เค้าคือใคร และมีหน้าที่ทำอะไร ดูแลผู้ป่วย อย่างไรในโรงพยาบาล ไปกันเลยย…
นักกายภาพบำบัด คือ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยให้การรักษาผู้ที่มีความผิดปกติเรื่องการเคลื่อนไหว เช่น แขนอ่อนแรงขยับลำบาก โรคหลอดเลือดสมอง ปวดหลังร้าวลงขานั่งนานไม่ได้ เป็นต้น อาการพวกนี้อาจเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ความเสื่อม หรือเป็นมาแต่กำเนิด ด้วยการตรวจประเมินและวินิจฉัยทางกายภาพบำบัด ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ การรักษาฟื้นฟู โดยไม่ใช้ยา และมองถึง ตำแหน่งของโรค(พยาธิสภาพ) ควบคู่กับ หลักการเคลื่อนไหวพื้นฐานของมนุษย์
การรักษาทางกายภาพบำบัดก็จะประกอบด้วย การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เพื่อในการลดปวด ลดอักเสบ กระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และอีกแนวทางคือ การรักษาด้วยมือ โดยการดัดดึง ขยับข้อต่อ กดจุด นวดยืดคลายกล้ามเนื้อและออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะกับอาการในแต่ละบุคคลนั่นเองครับ
โดยเป้าหมายหลักของการรักษาคือ แก้อาการเจ็บ และให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกตินั่นเองครับ
ปัจจุบันคนไข้ที่ได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัดจะมี 5 กลุ่ม หลักๆ ตามนี้เลยครับ
Orthopedic (ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ)
ลักษณะผู้ป่วย ได้รับการบาดเจ็บที่กระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น หกล้มข้อเท้าพลิก เส้นเอ็นกล้ามเนื้อได้รับความเสียหาย ทำให้ลงน้ำหนักได้น้อยลง มีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไปจากเดิม
อาการ เจ็บ, ปวด, ปวดร้าวไปตำแหน่งอื่นๆ, ขยับไม่สุด, ยกแขนติด เป็นต้น
โรคที่พบ กลุ่มอาการ ออฟฟิตซินโดรม (office syndrome), หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, กระดูกสันหลังเคลื่อน, ภาวะข้อไหล่ติด, เอ็นไหล่อักเสบ, ข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น
การรักษาทางกายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะออกแบบการรักษาตามตำแหน่งที่ได้รับบาดเจ็บและระยะเวลาในการดำเนินโรคขณะนั้น
(ดูว่าอาการตอนนั้นอยู่ในขั้นไหนแล้ว จึงเลือกให้การรักษา)
– ลดอาการปวด ด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด
– เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว ตามด้วยด้วยการดัดดึงข้อต่อ การยืดกล้ามเนื้อ
– ฝึกการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง และป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ ด้วยการออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมแต่ละบุคคล
เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังรวมไปถึงผู้ป่วยหลังผ่าตัด เช่น ผ่าเข่า, ผ่าสะโพก, ผ่ากระดูกคอ, กระดูกสันหลัง เป็นต้น
สิ่งที่นักกายภาพบำบัดทำ คือให้คำแนะนำ บอกข้อห้ามข้อควรระวังเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ให้ท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมตามระยะการฟื้นฟูของตัวโรค เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกตินั่นเองครับ
Neurological (ระบบประสาท)
ลักษณะผู้ป่วย ได้รับบาดเจ็บที่สมองหรือไขสันหลัง (ไม่ว่าจะเป็นการกระแทกจากภายนอกหรือความผิดปกติขึ้นจากภายใน) เช่น ผู้ป่วยอัมพฤษ-อัมพาต ( โรคหลอดเลือดสมอง ), ผู้ป่วยพาร์กินสัน, ผู้ป่วยอ่อนแรงครึ่งท่อน
อาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรงครึ่งซีก(ซ้าย-ขวา) หรือครึ่งท่อน(บน-ล่าง) ไม่สามารถสั่งการให้เคลื่อนไหวได้, แขนขาสั่น-ส่าย, ระดับการรู้สึกตัวน้อยลง, การเคลื่อนไหวช้าลง เป็นต้น
โรคที่พบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ-แตก(Storke), โรคพาร์กินสัน(Pakinson), โรคไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ(Spinal cord injury), โรคเนื้องอกในสมอง เป็นต้น
การรักษาทางกายภาพบำบัด การเลือกให้การรักษาขึ้นกับระดับความสามารถของผู้ป่วยในขณะนั้น
– ฝึกการพลิกตะแคงตัว (Bed mobility training)
– ฝึกนั่งทรงตัว และควบคุมกล้ามเนื้อลำตัว (Sitting balance and Trunk control)
– ฝึกเดินในท่าทางที่ถูกต้อง (Gait training)
เป็นต้น การให้การรักษากลุ่มนี้เริ่มจากการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไป ร่วมกับใช้เทคนิคการกระตุ้นกล้ามเนื้อ การให้แรงช่วย(Key point) การพยุงหรือช่วยเดินด้วยแรงที่เหมาะสม เป็นต้น
Cardiopulmonary (ระบบหัวใจและปอด)
ลักษณะผู้ป่วย มีความผิดปกติเกิดขึ้นที่หัวใจหรือปอด
อาการ เสมหะคั่งค้างในปอด, หายใจผิดรูปแบบ, หายใจหอบเหนื่อย, เหนื่อยง่าย, นอนราบไม่ได้, เจ็บหน้าอก เป็นต้น
โรคที่พบ
โรคปอด ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดลมโป่งพองเรื้อรัง (COPD), โรคปอดติดเชื้อ (pneumonia), โรคหอบหืด (asthma), มีลมในเยื่อหุ้มปอด(Pneumothorax) เป็นต้น
โรคหัวใจ ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure), ลิ้นหัวใจรั่ว, หลอดเลือดหัวใจอุดตัน เป็นต้น
การรักษาทางกายภาพบำบัด
– ระบายเสมหะ ด้วยเทคนิค การจัดท่า การเคาะปอด การสั่นปอด การดูดเสมหะ
– ฝึกการหายใจอย่างถูกวิธี
– สอนการไออย่างมีประสิทธิภาพ
– กระตุ้นการขยายตัวของปอด
– โปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสม นักกายภาพบำบัดมีความสำคัญอย่างมากในการออกแบบความหนักของการออกกำลังกายในกลุ่มคนไขโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นจึงควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเฉพาะทางที่มีความชำนาญ
Pediatric (เด็ก)
ลักษณะผู้ป่วย เด็ก ที่มีความผิดปกติเรื่องการเคลื่อนไหวตั่งแต่กำเนิด อาจเกิดจากคลอดก่อนกำหนด การขาดออกซิเจนชั่วขณะระหว่างคลอด หรือสาเหตุอื่นๆ
อาการ พัฒนาการช้ากว่าเด็กทั่วไป, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เคลื่อนไหวไม่ได้, เคลื่อนไหวผิดปกติ มีอาการเกร็ง หรือแกว่งไม่มีทิศทาง เป็นต้น
โรคที่พบ ภาวะสมองพิการ(Cerebral palsy), ความผิดปกติของไขกระดูกสันหลัง(spina bifida) เป้นต้น
การรักษาทางกายภาพบำบัด หน้าที่ของนักกายภาพบำบัดคือกระตุ้นการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ให้เด็กเหล่านั้นมีพัฒนาการใกล้เคียงกับช่วงอายุให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังรวมไปถึงกระตุ้นความคิด ความเข้าใจ
Sport (กีฬา)
ลักษณะผู้ป่วย ได้รับการบาดเจ็บจากการออกกำลังกาย หรือยกน้ำหนัก
อาการ มีอาการเจ็บขณะเคลื่อนไหว, ใช้งานส่วนของร่างกายได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ, ปีปัญหาการเคลื่อนไหวบางจังหวะ(เช่นการหมุนตัว,การกระโดด) เป็นต้น
โรคที่พบ เอ็นไขว้หน้าฉีก, เอ็นข้อเท้าฉีก, กล้ามเนื้อไม่สมดุล(Muscle imbalance), หมอนรองเข่าบาดเจ็บ(Meniscus injury)
การรักษาทางกายภาพบำบัด การรักษาขั้นพื้นฐานใกล้เคียงกับการรักษาผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อครับ แต่การดูแลผู้ป่วยที่เป็นนักกีฬาต้องเน้นการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อรองรับการใช้งานค่อนข้างรุนแรงจากการออกกำลังกาย ดังนั้น นักกายภาพจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก ที่จะดูแลนักกีฬา ตั่งแต่ระยะเตรียมความพร้อมก่อนแข่งขัน ระยะบาดเจ็บขณะแข่งขัน และระยะฟื้นฟูหลังจากแข่งขัน
เรามักจะพบ นักกายภาพเฉพาะทางกีฬา(Sport PT) ได้ในสนามแข่งต่างๆครับ เมื่อมีนักกีฬาบาดเจ็บขณะแข่งขัน Sport PT ต้องรีบเข้าไปหาเพื่อประเมินว่านักกีฬาผู้นั้นสามารถแข่งต่อได้หรือไม่
หรือสามารพบตามโรงพยาบาลหรือคลินิกกายภาพเฉพาะทาง หรือตามสถานที่ซ้อมกีฬา ซึ่ง Sport PT มักจะทำงานเป็นทีมวางแผนร่วมกับ coach และ Trainer เพื่อฝึกฝนให้นักกีฬาคนนึงสามารถเป็นนักกีฬาที่สมบูรณ์แบบนั่นเองง
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีบริการ กายภาพบำบัดที่บ้าน ที่จะมีนักกายภาพบำบัดไปดูแล และให้การรักษาตามหลักวิชาชีพถึงที่บ้านท่านอีกด้วย
ทีนี้เราก็รู้จักนักกายภาพบำบัดกันมากขึ้นแล้วนะครับ
ไว้มีโอกาสเจอกัน ทักทายกันได้นะครับ 😀