ยืดกล้ามเนื้อ นั้นสำคัญอย่างไรในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
การ ยืดกล้ามเนื้อ นั้นมีความสำคัญกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองยังไง วันนี้ ReBRAIN จะพามา ทำความรู้เกี่ยวกับการ ยืดกล้ามเนื้อ กันในบทความนี้กันค่ะ
หลาย ๆ ครั้งที่ผู้ป่วยและญาติได้เจอกับนักกายภาพบำบัด ก็จะได้รับโปรแกรมการออกกำลังกายเองที่บ้าน หรือ การบ้านที่นักกายภาพบำบัดให้ และการออกกำลังกายที่ทุกคนมักจะได้รับก็คือ การยืดกกล้ามเนื้อ
การ ยืดกกล้ามเนื้อ สำคัญอย่างไร เพราะอะไร ถึงจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอ หากไม่ทำแล้วจะมีผลกระทบอะไรตามมา หรือไม่
การ ยืดกกล้ามเนื้อ เป็นการออกกำลังกายเพื่อการรักษาอย่างหนึ่งและเป็นวิธีการทางกายภาพบำบัดเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยหลากหลายประเภท แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการยืดกล้ามเนื้อเป็นการออกกำลังกายที่สำคัญอย่างมากในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ ยืดกกล้ามเนื้อ ในร่างกายฝั่งที่อ่อนแรง
ประโยชน์ของการยืดกกล้ามเนื้ออย่างแรกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองคือลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อได้ การยืดกล้ามเนื้อทุกวันอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีการรักษาแรกที่ดีและทำได้ง่ายที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ เมื่ออาการเกร็งของผู้ป่วยลดลงแล้วก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถออกแรงได้ง่ายยิ่งขึ้น
หลักการของการยืดกกล้ามเนื้อ คือการยืดกล้ามเนื้อจากจุดเกาะต้นและจุดเกาะปลายออกจากกัน ยืดกล้ามเนื้อทิศทางในด้านตรงข้ามกับทิศทางที่เกิดอาการหดเกร็ง เช่น หากกล้ามเนื้องอศอกมีการหดเกร็ง การยืดกล้ามเนื้อจะทำในทิศทางตรงข้ามคือ ทำการเหยียดศอกออกเพื่อยืดกล้ามเนื้อนั่นเอง วิธีการยืดกล้ามเนื้อ คือ ยืดกล้ามเนื้อค้างไว้ 15 วินาที 10 ครั้งต่อท่า ความรู้สึกขณะยืดจะรู้สึกตึงแต่ไม่เจ็บ ทำได้เมื่อมีอาการเกร็ง มีอาการตึงของกล้ามเนื้อ หากเป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถยืดได้ทั้งก่อนทำกายภาพบำบัด ก่อนเดิน หรือจะทำ เช้า กลางวัน เย็น ก็สามารถทำได้
กลุ่มกล้ามเนื้อที่มักมีการยึดติด ขาดความยืดหยุ่นจากอาการเกร็งกล้ามเนื้อ จำเป็นต้องมีการยืดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ ได้แก่
กลุ่มกล้ามเนื้อแขน (Upper extremities muscle)
- กล้ามเนื้องอไหล่ (Shoulder flexor muscle)
- กล้ามเนื้อหุบไหล่ (Shoulder adductor muscle)
- กล้ามเนื้องอศอก (Elbow flexor muscle)
- กล้ามเนื้องอข้อมือ (Wrist flexor muscle)
กลุ่มกล้ามเนื้อขา (Lower extremities muscle)
- กล้ามเนื้อหุบสะโพก (Hip adductor muscle)
- กล้ามเนื้อหมุนสะโพกออก (Hip external rotator muscle)
- กล้ามเนื้องอเข่า (Knee flexor muscle)
- กล้ามเนื้อถีบข้อเท้า (Ankle dorsiflexor muscle)
ตัวอย่างท่ายืดกล้ามเนื้อ
- ท่ายืดกล้ามเนื้อหุบขา
- ท่ายืดกล้ามเนื้องอเข่า
นอกจากลดอาการเกร็งแล้ว ยังสามารถเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ ป้องกันภาวะข้อติด ได้อีกด้วย ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถขยับแขนขาเองได้ อาจทำให้ความยืดหยุ่น ของกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ข้อต่อเคลื่อนไหวน้อยลง การยืดกล้ามเนื้อ จึงเป็นอีกวิธีป้องกันภาวะข้อติด เพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บ จากอาการตึงกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยง ที่จะเกิดความพิการจากข้อต่อติดอีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตามการยืดกล้ามเนื้อก็มีข้อควรระวังเช่นกัน การยืดกล้ามเนื้อควรทำด้วยแรงที่พอดีไม่เช่นนั้น อาจเกิดการบาดเจ็บจากกล้ามเนื้อฉีกขาดตามมาได้ รวมถึงการยืดกล้ามเนื้อควรทำในระดับความรู้สึกที่ไม่เจ็บจนเกินไป การยืดกล้ามเนื้อควรยืดค้างไว้ 15 วินาทีต่อครั้ง 10 ครั้งต่อท่า เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการยืดกล้ามเนื้อมากที่สุด แต่ในผู้ป่วยบางราย อาจมีอาการเกร็งหรือปัญหาข้อยึดติดที่แตกต่างกันไป สามารถรับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดที่ดูแลได้ เพื่อการออกแบบโปรแกรมการรักษา อย่างตรงจุด หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook page: Rebrain กายภาพโรคหลอดเลือดสมอง รักษาที่บ้าน หรือ โทร. 086-3119699
แหล่งอ้างอิง
- Jung, Y. J., Hong, J. H., Kwon, H. G., Song, J. C., Kim, C., Park, S., … & Jang, S. H. (2011). The effect of a stretching device on hand spasticity in chronic hemiparetic stroke patients. NeuroRehabilitation, 29(1), 53-59.
- Kisner, C., Colby, L. A., & Borstad, J. (2017). Therapeutic exercise: foundations and techniques. Fa Davis.