อัมพาต มีโอกาสหายไหม?
อย่างที่ทราบกันว่า อัมพาต เป็นโรคที่เกิดจากการตายของเนื้อสมอง มีสาเหตุจากหลอดเลือดในสมองเกิดการแตก หรือตีบ จนเกิดเป็นก้อนเลือดกดเนื้อสมองก็ตาม ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ แต่ความมหัศจรรย์ของสมองที่เปรียบเหมือนเครื่องยนต์ของมนุษย์ จะมีความแตกต่างกับเครื่องยนต์ตรงที่เครื่องยนต์ ที่เสียแล้ว ก็จะเสียเลย ต้องเอาอะไหล่มาเปลี่ยน แต่สมองเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง ซ่อมแซมตัวเองตลอดเวลา ตามสิ่งเร้า ประสบการณ์ ความนึกคิด ที่ผ่านเข้ามา กระบวนการนี้เกิดขึ้นตลอดชีวิต แต่ก่อนเราเคยรู้ว่า เซลล์สมองจะหยุดการสร้าง หลังจากที่เราเกิดมา ดังนั้นเมื่อเกิดเนื้อสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขนขาตายไป กล้ามเนื้อส่วนนั้นก็จะไม่ทำงานอย่างถาวร แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นแบบนั้น สังเกตไหมว่า ทำไมผู้ป่วยที่เป็น อัมพาต ที่มีแขนและขาอ่อนแรง หลังจากทำกายภาพบำบัด แขนและขาถึงกลับมาฟื้นตัวได้ ถ้าอยากรู้เรามาหาคำตอบไปพร้อมกันครับ
ก่อนอื่นเลยเรามารู้ว่าการหายของหลอดเลือดสมองของคนเราจะแบ่งเป็น 7 ระดับ ซึ่งตรงกับศัพท์แพทย์คือ Modified Rankin Scale หรือตัวย่อๆว่า mRS มีตัวเลข 0-6
0 คือ เหมือนปกติ สามารถทำงาน ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนไม่เคยป่วยมาก่อน เป็นเป้าหมายที่ทั้งผู้ป่วยและทีมแพทย์ ทุกคนคาดหวัง
1 คือ มีติดขัดอยู่บ้าง มีอ่อนแรงหรือชาอยู่เล็กน้อย แต่สามารถเดินหรือทำกิจกรรมได้ปกติ สามารถหารายได้เองได้ เคลื่อนไหวคล่องแคล่ว
2 คือ มีอ่อนแรง หรือติดขัดอยู่ระดับหนึ่ง มีข้อจำกัดการใช้ชีวิตบางส่วนแต่ช่วยเหลือตัวเองได้เป็นส่วนใหญ่ เดินเองได้มั่นคง ผู้ป่วยบางรายเมื่อปรับลักษณะงานเหมาะสมก็สามารถกลับทำงาน สร้างรายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ซึ่งจุดนี้เป็นสิ่งที่แพทย์คาดหวัง
3 คือ เดินได้เองไม่ต้องมีคนช่วย อาจใช้อุปกรณ์เสริม เช่น ไม้เท้าบ้าง สามารถทำอะไรเล็กๆน้อยได้บ้างซึ่งอาจต้องมีคนช่วยในบางสถานการณ์ เช่น ซื้อของจ่ายตลาด
4 คือ ไม่สามารถเดินเองได้ ต้องมีคนช่วยเหลือ ผู้ป่วยกลุ่มนี้บางรายแม้เดินไม่ได้ แต่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้บนเตียงหรือรถเข็น ตักอาหารกินเองได้เมื่อญาติเตรียมไว้ให้
5 คือ นอนติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนดูแลต่อเนื่อง
6 คือ เสียชีวิต
แต่การหายมีหลายปัจจัย ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาหลายครั้งการฟื้นตัวก็จะยากยิ่งขึ้น ทั้งมีในเรื่องตำแหน่งรอยโรค หลอดเลือดเล็กใหญ่ที่อุดตัน หลอดเลือดใหญ่จะทำให้สมองเสียหายมากกว่า ทั้งอายุและโรคประจำตัว และระยะเวลาที่เริ่มมีอาการจนมาถึงโรงพยาบาล ถ้านานเกินไปก็ทำให้สมองเสียหายได้มากขึ้น ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดสื่อสารไม่รู้เรื่องจนถึงขั้นหมดสติ มาในระยะเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง เป็นระบบฉุกเฉินที่ระบบสาธารณสุขไทย เรียกว่า Stroke Fast Track จะจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรรักษาแบบเร่งด่วน แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือด rtPA ซึ่งจะทำให้เพิ่มโอกาสการฟื้นตัวของสมองให้หายมาในระดับ 0-2 ได้มากขึ้น
ในเมื่อทุกคนทราบกันแล้วว่าการหายของหลอดเลือดสมองของคนเราจะแบ่งเป็น 7 ระดับ ที่นี้มาทราบถึงระยะเวลาในการฟื้นตัวของสมองจากการตายของสมอง ซึ่งจะสามารถฟื้นตัวดีที่สุดในช่วงหนึ่งเดือนแรก และหลังจากนั้นจะช้าลงหลังจากเดือนที่หกเป็นต้นไป ดังนั้นหนึ่งเดือนแรกนี้แพทย์จะเน้นการการรักษาประคับประคองเพื่อสนับสนุนต่อการฟื้นตัวให้ได้มากที่สุด ส่วนเนื้อสมองที่ตายไปแล้วนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ แต่สมองส่วนอื่นยังมีกระบวนการซ่อมแซม มีการสร้างสายใยสมองขึ้นมาใหม่ ทั้งในเนื้อสมองบริเวณที่ตายไปและบริเวณอื่นๆในสมอง เพื่อทำให้เกิดการสร้างสมองส่วนใหม่ที่สามารถมาสั่งการให้ร่างกายส่วนที่ไม่ทำงานนั้นกลับฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เรียกกลไกการซ่อมแซมตัวเองของสมองนี้ว่า นิวโรพลาสติคซิตี้ (Neuroplasticity) ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่มียา หรือเครื่องมืออะไรที่จะมากระตุ้นกระบวนการเหล่านี้ได้ นอกจากตัวผู้ป่วยเอง โดยต้องอาศัยทั้งแรงกระตุ้นภายในร่างกาย คือ ความนึกคิดที่เป็นบวก กำลังใจ และที่สำคัญที่มาจากภายนอกร่างกาย คือ การขยับเคลื่อนไหวแขนและขาที่อ่อนแรงนั้นที่เรียกว่า “กายภาพบำบัด” ซึ่งต้องทำให้ถูกวิธี ภายใต้การดูแลของ นักกายภาพบำบัด และต้องเริ่มทำให้เร็วที่สุดเท่าที่ร่างกายจะสามารถทำได้ ทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง จึงจะทำให้ร่างกายเราฟื้นตัวได้ดีและเร็วยิ่งขึ้น
ดังนั้นการที่ผู้ป่วยจะกลับมาหายหรือไม่ก็ขึ้นกับกระบวนการซ่อมแซมตัวเองของสมอง ได้รับการรักษา หรือกระตุ้นที่ถูกต้องมีความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน รวมถึงการทำกายภาพบำบัด ที่ต้องทำซ้ำๆ ต่อเนื่อง และแน่นอน สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสู้ต่อไปได้ คือ ความอดทน และ กำลังใจ ปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ป่วยอัมพาต ก็คือ การสูญเสียการทำงานของร่างกายจากอัมพาต ที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เฉียบพลันในชั่วพริบตานั้น ก่อให้เกิดความกลัว ความกลัวจนทำให้ผู้ป่วยสิ้นหวัง ท้อแท้ และ หมดกำลังใจ สุดท้ายนี้การหายระดับไหนก็ไม่สู้กับการทำความเข้าใจ หลายต่อหลายคนหายที่ระดับ 0-1 สีหน้าเศร้าหมอง คิ้วขมวดตลอดเวลา บางคนอยู่ระดับ 4 และ 5 หน้าดูเป็นสุขยิ้มได้ บางสิ่งเมื่อมันผ่านไปแล้ว มันเป็นอดีต จนลืมว่าปัจจุบันก็สำคัญ จงอยู่กับปัจจุบัน มองเห็นกำลังใจจากคนรอบๆข้าง อย่ามัวไปโหยหวนอดีต มุมมองที่เป็นบวก เห็นร่างกายที่ดีขึ้นในแต่ละวันเป็น กำลังใจที่จะสู้ต่อไป ทำให้เรารู้ ความรู้ที่ว่า อัมพาตหายได้
แหล่งอ้างอิง :
1.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
2.นพ.วิโรจน์ ตันติโกสุม. อัมพาตหายได้ด้วยกำลังใจ (28 มิถุนายน 2564)