อาการมึนหัว หน้ามืด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

อาการมึนหัว หน้ามืด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

 

จากบทความเรื่อง อาการมึนหัว หน้ามืด ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง อาการที่พึงระวังในช่วงแรกของโรค ทาง ReBRAIN ได้แนะนำวิธีการแก้ไขอาการเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ในบทความนี้ทาง ReBRAIN จะมานำเสนอการรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำ ทั้งความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า (Orthostatic hypotension) และภาวะความดันโลหิตต่ำทั่วไป

ภาวะความดันโลหิตต่ำ คือ ภาวะที่ความดันโลหิตเมื่อหัวใจบีบตัว (Systolic blood pressure) น้อยกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) และความดันโลหิตเมื่อหัวใจคลายตัว (Diastolic blood pressure) น้อยกว่า 60 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ร่างกายไม่สามารถปรับตัวจากการนอนเป็นเวลานานได้ ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้ป่วยที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน เมื่อร่างกายมีกิจกรรมที่หนักขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนท่าทาง การออกกำลังกายที่มากเกินไป หัวใจไม่สามารถปรับตัวเพื่อบีบเลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • การไหลเวียนเลือดลดลงจากสาเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น ภาวะขาดน้ำหรือเกลือแร่ ภาวะเลือดออกรุนแรง ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำจากท้องเสียรุนแรง หรือ ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า
  • ภาวะโลหิตจาง ปริมาณเม็ดเลือดแดงลดลง ส่งผลให้ปริมาตรเลือดลดลงจึงเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • โรคที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งระบบประสาทอัตโนมัติมีหน้าที่ช่วยในการควบคุมการบีบตัวของหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดขยายมากกว่าปกติ ทำให้เลือดไปเลี้ยงตามอวัยวะต่าง ๆ มากกว่าปกติ ส่งผลทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ
  • การติดเชื้ออย่างรุนแรง ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวพร้อม ๆ กันทำให้ความดันโลหิตลดลง
  • การแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารต่าง ๆ อย่างรุนแรง อาการแพ้ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวทันที ร่วมกับสารเหลวในเลือดซึมออกนอกหลอดเลือด ส่งผลให้ปริมาตรเลือดลดลง จึงเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น

การนอนหัวต่ำ หรือ การนอนหัวราบ เป็นการรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำอีก 1 วิธี โดยการนอนหัวต่ำ นอนให้ศีรษะต่ำกว่าระดับลำตัว 10-15 องศา จุดประสงค์เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดสู่ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ สมอง เพียงนอนหัวต่ำประมาณ 1 นาที ช่วยให้ความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวเพิ่มขึ้นได้ หรือ การนอนหัวราบ ก็ช่วยเพิ่มความดันโลหิตให้กลับมาสู่ภาวะปกติได้เช่นกัน

หากปล่อยให้ความดันโลหิตต่ำเป็นเวลานาน อาจจะเกิดความเสี่ยงที่อันตรายเป็นอย่างมาก เนื่องจากระบบไหลเวียนเลือดลดลงทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงอาจเกิดโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดได้จากภาวะความดันโลหิตต่ำ

ทาง ReBRAIN มีข้อแนะนำดี ๆ มาฝากเพื่อเฝ้าระวังภาวะความดันโลหิตต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละ 6-8 แก้ว เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะขาดน้ำ
  • ออกกำลังกายและเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
  • หากเป็นช่วงแรกของโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงที่สามารถเป็นความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ควรเฝ้าระวังโดยการวัดความดันโลหิตก่อนเปลี่ยนท่าทุกครั้ง
  • ดูแล ป้องกัน และรักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่อาจะเป็นสาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง เป็นต้น

 

แหล่งอ้างอิง

  1. wan Lim, T., Kim, H. J., Lee, J. M., Kim, J. H., Hong, D. M., Jeon, Y., … & Bahk, J. H. (2011). The head-down tilt position decreases vasopressor requirement during hypotension following induction of anaesthesia in patients undergoing elective coronary artery bypass graft and valvular heart surgeries.European Journal of Anaesthesiology (EJA)28(1), 45-50.
  2. Cole, F. (1952). Head lowering in treatment of hypotension.Journal of the American Medical Association150(4), 273-274.

 

โรคหลอดเลือดสมอง

Facebook :: ReBRAIN

โทร.
Scroll to Top