ผ่าตัดมะเร็งเต้านม แขนบวม จัดการอย่างไรทางกายภาพบำบัด
แขนบวม จากน้ำเหลืองคั่ง (arm lymphedema) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยใน ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะในผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดเต้านมร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ และเคยได้รับรังสีรักษาร่วมด้วย หรือมีการติดเชื้อแผลผ่าตัดบริเวณเต้านมหรือรักแร้ ซึ่งหากไม่ได้รับคำแนะนำและการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องอาการจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหลายคนคงสงสัยใช่ไหมว่า มะเร็งเต้านมส่งผลให้แขนบวมได้ยังไง และมีวิธีการจัดการอย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมๆกัน ภาวะแขนบวมจากน้ำเหลืองคั่งเป็นภาวะที่มีน้ำเหลืองสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อบริเวณแขนเนื่องจากท่อน้ำเหลืองบริเวณรักแร้อุดตันหรือถูกทำลายทำให้น้ำเหลืองไหลไปเชื่อมต่อกับเครือข่ายทางเดินน้ำเหลืองก่อนกลับเข้าสู่ระบบหลอดเลือดดำไม่สะดวก ส่งผลให้มีน้ำเหลืองไหลย้อนลงและซึมออกไปในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนังบริเวณใกล้เคียงจนเกิดแขนมีลักษณะบวมขึ้น
การรักษาทางกายภาพบำบัด
1.การยกรยางค์ให้สูง (limb elevation) สามารถช่วยทำให้รยางค์บวมลดลงได้ในระยะต้น และหลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้แขน ขา อยู่ต่ำตามแรงโน้มถ่วง เช่น การยืน การนั่งกับที่นานๆ หรือการนั่งไขว่ห้าง
2. การนวดระบายน้ำเหลือง เริ่มนวดจากปลายมือขึ้นไปที่ต้นแขน (Manual lymphatic drainage) ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยในการระบายน้ำเหลือง โปรตีนหรือของเสียอื่นๆจากเนื้อเยื่อบริเวณแขนออก โดยค่อยๆ ถ่ายเทกลับ เข้าไปในกระแสเลือด เทคนิคนี้จะใช้การนวดแบบลูบอย่างเบา (light-pressure stroking) เพื่อไปกระตุ้นท่อน้ำเหลืองส่วนตื้นบริเวณใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดเป็นทางเชื่อมระหว่างบริเวณที่อุดตันกับบริเวณที่มีการไหลเวียน สะดวก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการระบายน้ำเหลืองที่ดีขึ้น
3. การพันแขนด้วยผ้ายืดหรือการสวมปลอกแขนที่มีแรงกด (bandaging and compressive garment) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเหลืองไหลกลับมาคั่งที่แขน
4. การบีบแขนด้วยเครื่องบีบแรงลม (pneumatic compression ) กำหนดให้เครื่องบีบเป็นจังหวะด้วยแรงดันไม่เกินค่าแรงดันเลือดในขณะหัวใจคลายตัว(Diastolic) ของแต่ละคน บีบจากปลายนิ้วเรื่อยไปจนถึงต้นแขน เพื่อกระตุ้นการไหลกลับของน้ำเหลืองสู่หัวใจ แต่มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยติดเชื้อ ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว และห้ามใช้บริเวณที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ (Deep vein thrombosis)
5. การออกกำลังกาย บริหารมือ แขน และข้อไหล่ เนื่องจากกล้ามเนื้อที่หดตัวขณะบริหารร่างกายจะช่วยบีบหลอดน้ำเหลืองบริเวณกล้ามเนื้อนั้น ๆ ทำให้น้ำเหลืองไหลเวียนได้ดี ขึ้น
6. การดูแลความสะอาดของผิวหนังและการป้องกันการบาดเจ็บเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
7. การควบคุมอาหารมัน และการลดน้ำหนัก
8. Complete (Complex) decongestive therapy (CDT) ประกอบด้วย กิจกรรมที่ทำควบคู่กันตามลำดับขั้นตอนคือ 1) การนวดระบายน้ำเหลือง 2) การพันแขนด้วยผ้ารัดหลายหลายชั้น (compression bandaging) วันละ 23 ช.ม. รวมทั้งขณะบริหารร่างกาย 3) การบีบแขนด้วยเครื่องบีบแรงลม (pneumatic compression) 4) การบริหารร่างกาย และ 5) การดูแลความสะอาดของผิวหนังและเล็บ มักเป็นโปรแกรม 2 ช่วงแรกผู้บำบัดซึ่งมีความ ชำนาญ ทำให้ผู้ป่วยใช้เวลาครั้งละ 2 ช.ม.สัปดาห์ละ 5 วัน นาน 3-8 สัปดาห์
หลังจากนั้นนักกายภาพบำบัดให้โปรแกรมการออกกำลังกายผู้ป่วยให้ไปปฏิบัติเองต่อที่บ้าน ร่วมกับให้ความรู้คำแนะนำที่จำเป็นเพื่อการดูแลตนเองของผู้เป็นมะเร็งเต้านม ดังนี้
1. การป้องกันการติดเชื้อที่ผิวหนังโดยดูแลความสะอาดและหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บต่อผิวหนัง บริเวณรักแร้ เต้านม และแขนข้างที่ผ่าตัดหรือฉายแสง
2. การป้องกันการกีดขวางการไหลเวียนน้ำเหลืองโดยหลีกเลี่ยงการทำหัตถการที่ต้องรัดแขนนานหรือบ่อย ๆ เช่น การวัดความดันโลหิต การเจาะเลือด การให้สารน้ำ เลือด ยาที่แขนข้างที่เป็นมะเร็งเต้านม การสวมเสื้อที่รัดแน่นบริเวณรักแร้ การสวมกำไลข้อมือ และแหวนที่คับ เป็นต้น
3. การส่งเสริมการไหลเวียนน้ำเหลือง โดยการบริหารมือ (กำและคลาย ) ทันทีภายหลังผ่าตัด ตามด้วยการบริหารแขนและข้อไหล่ ตามลำดับภายหลังผ่าตัด1-7 วัน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจจะเกิดจากหลังผ่าตัด ผู้ป่วยได้ถูกตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองออกไปแล้ว จะทำให้ผู้ป่วยปวดแผลจนไม่อยากจะยกแขน ทำให้อาจเกิดข้อไหล่ติดและแขนที่บวมได้ การป้องกันการเกิดข้อไหล่ติดที่ดีที่สุด คือ ให้ผู้ป่วยออกกำลังกายบริหารแขนและหัวไหล่ ตั้งแต่ในระยะแรกๆ หลังผ่าตัดเพื่อป้องกันข้อไหล่ติดและแขนบวม
– ท่าไต่กำแพงด้านข้าง (กางแขน) ยืนหันข้างเข้าหาฝาผนัง มือข้างที่ผ่าตัดเต้านม วางทาบกับผนังค่อย ๆ ไต่นิ้วไปตามผนัง ขึ้นไปพร้อมขยับตัวให้ชิดกำแพง เรื่อย ๆ พยายามให้ได้สูงขึ้นไป จนกระทั่งสามารถเหยียดแขนเหนือศีรษะเต็มที่ จากนั้นให้ยกแขนนิ่งไว้และนับ 1-5 อย่างช้าๆ หลังจากนั้นลดแขนลงมาวางข้างลำตัว
– ท่าไต่กำแพงด้านหน้า (ยกแขน) ยืนหันหน้าเข้าหาฝาผนัง มือข้างที่ผ่าตัดเต้านม วางทาบกับผนังค่อย ๆ ไต่นิ้วไปตามผนัง ขึ้นไปพร้อมขยับตัวให้ชิดกำแพง เรื่อย ๆ พยายามให้ได้สูงขึ้นไป จนกระทั่งสามารถเหยียดแขนเหนือศีรษะเต็มที่ เมื่อยกแขนได้สูงสุดแล้วให้ยกค้างไว้ นับ1-5 ช้าๆ แล้วลดแขนลงมาวางข้างลำตัว
– ท่าเหยียดแขน ยืนวางแขน ข้างลำตัวและเหยียดแขนทั้ง 2 ข้างขึ้นไปทางด้านหลังจับมือด้วยกันแล้วค่อย ๆ ยกแขนขึ้นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้(ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว ควรหลีกเลี่ยงท่านี้)
– ท่ากายบริหารหมุนหัวไหล่ วางมือข้างที่ทำผ่าตัดเต้านมไว้บนหัวไหล่แล้วหัวไหล่เป็นวงกลมไปข้างหน้าและข้างหลัง
– ท่าบิดไหล่ ประสานมือทั้ง 2 ข้างที่ท้ายทอย และพยายามกางข้อศอกให้ได้มากที่สุด เมื่อกางข้อศอกได้มากที่สุดแล้วให้นับ 1-5 ช้าๆ แล้วค่อยๆลดแขนลงมาวางที่ข้างลำตัวตามเดิม ทำซ้ำท่าละ 5-10 ครั้ง
ภาวะแขนบวมจากน้ำเหลืองคั่ง เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมที่เกิดขึ้นได้
ทั้งในระยะการรักษา และหลังการรักษาครบไปแล้วหลายปี ซึ่งเป็นผลมาจากหลายสาเหตุ ทั้งจากการรักษา
การมีโรคร่วม การดำเนินชีวิตและการปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม ภาวะนี้หากเกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบต่อ
ผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ กายภาพบำบัดเป็นส่วนหนึ่งในทีมสุขภาพในการดูแลรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา เพื่อเฝ้าระวังและ
ป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาโดยให้คำแนะนำการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแขนบวมจากน้ำเหลืองคั่งที่อาจรุนแรง และส่งต่อผู้เชี่ยวชาญหากไม่สามารถควบคุมได้
เอกสารอ้างอิง
- Gonzalez P, Luciano L, Schuman RM. Physical medicine and rehabilitation board review, in: SJ Cuccurullo, editor, Cancer rehabilitation. New York: Demos Medical Publishing. 2015; 3(9). 657 -32.
- Fu MR. Breast cancer-related lymphedema: Symptom, diagnosis, diagnosis, risk reduction, and management.
- Shaitelman SF, Cromwell KD, Rasmussen JC, Stout NL, Armer JM, Lasinski BB, et al. Recent progress in the treatment and prevention of cancer-related lymphedema.CA Cancer J Clin. 2015; 65(1):55-81.