นอนนาน ไม่ขยับ เสี่ยง แผลกดทับ ได้อย่างไร

   นอนนาน ไม่ขยับ เสี่ยง แผลกดทับ ได้อย่างไร

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองส่วนใหญ่จะมีอาการอ่อนแรงที่กล้ามเนื้อแขนขาครึ่งซีก สูญเสียความสามารถในการทรงตัวซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยอาจไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ หากอาการรุนแรงก็อาจส่งผลให้ป่วยช่วยเหลือตนเองไม่ได้และติดเตียงในที่สุด ซึ่งภาวะแทรกซ้อนจากการติดเตียงมีมากมายหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นที่พบได้บ่อยที่สุดนั่นคือ แผลกดทับ

แผลกดทับ (Pressures sores)  คือ บริเวณที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อที่ถูกกดทับเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดมาเลี้ยง ส่งผลให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้รับสารอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงเกิดการตายของผิวหนังหรือเนื้อเยื่อและเป็นแผลตามมาได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณปุ่มกระดูก

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลกดทับ

  1. แรงเสียดสี จะส่งผลให้ความทนทานต่อแรงกดลดลง
  2. ความเปียกชื้น จะส่งผลให้เนื้อเยื่อเปื่อย เกิดการทำลายของชั้นผิวหนังมากยิ่งขึ้น
  3. อายุ ยิ่งผู้ป่วยมีอายุเพิ่มมากขึ้น ผิวหนังของผู้ป่วยยิ่งบางลง
  4. ระยะเวลาในการเปลี่ยนท่าทาง หากผู้ป่วยเคลื่อนไหวหรือพลิกเปลี่ยนท่าน้อย ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสการเกิดแผลเพิ่มขึ้น
  5. ภาวะโภชนาการ การได้รับสารอาหารบางอย่างไม่เพียงพออาจส่งให้เกิดแผลง่ายและแผลหายช้า เช่น โปรตีน น้ำ วิตามินซี วิตามินดี วิตามินอี หรือผู้ที่น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก (cachexia)
  6. การรับความรู้สึก ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องด้านการรับความรู้สึกจะมีความเสี่ยงในการเกิดแผลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่บกพร่องความรู้สึกเจ็บปวด
  7. การสวมใส่อุปกรณ์อื่น ๆ
  8. ความเครียด การดื่มสุรา การสูบบุหรี่

 

ตำแหน่งที่มักจะเกิดแผลกดทับ

อ้างอิง:Miller-Keane Encyclopedia and Dictionary of Medicine, Nursing, and Allied Health, Seventh Edition. © 2003 by Saunders, an imprint of Elsevier, Inc.

  1. บริเวณที่มักเกิดแผลในท่านั่ง คือ บริเวณกึ่งกลางแนวกระดูกสันหลัง กระดูกใต้กระเบนเหน็บ กระดูกรองนั่ง และส้นเท้า

 

อ้างอิง:Miller-Keane Encyclopedia and Dictionary of Medicine, Nursing, and Allied Health, Seventh Edition. © 2003 by Saunders, an imprint of Elsevier, Inc.

  1. บริเวณที่มักเกิดแผลในท่านอนหงาย คือ บริเวณกะโหลกด้านหลังศีรษะ กระดูกสะบัก ข้อศอก กระดูกใต้กระเบนเหน็บ และส้นเท้า

อ้างอิง:Miller-Keane Encyclopedia and Dictionary of Medicine, Nursing, and Allied Health, Seventh Edition. © 2003 by Saunders, an imprint of Elsevier, Inc.

  1. บริเวณที่มักเกิดแผลในท่านอนคว่ำ คือ ด้านข้างของหน้าและหูข้างที่ถูกกดทับ กระดูกด้านข้างของหัวไหล่ หน้าอก(โดยเฉพาะในเพศหญิง) อวัยวะเพศ(โดยเฉพาะในเพศชาย) หัวเข่า และนิ้วหัวแม่โป้งเท้า

อ้างอิง:Miller-Keane Encyclopedia and Dictionary of Medicine, Nursing, and Allied Health, Seventh Edition. © 2003 by Saunders, an imprint of Elsevier, Inc.

  1. บริเวณที่มักเกิดแผลในท่านอนตะแคง คือ ด้านข้างของศีรษะและหูข้างที่ถูกกดทับ กระดูกด้านข้างของหัวไหล่ กระดูกด้านข้างสะโพก ด้านข้างหัวเข่า และตาตุ่ม

 

การป้องกันแผลกดทับ

  1. การให้ความรู้กับผู้ป่วยและครอบครัว

การให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้กับผู้ป่วยและครอบครัวถือว่าเป็นการป้องกันที่ง่ายและดีที่สุด ถือเป็นสิ่งแรกที่ควรทำเมื่อประเมินแล้วว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการเกิดแผล โดยเฉพาะการให้ความรู้ถึงสาเหตุการเกิด ปัจจัยเสี่ยง การจัดท่าทาง การป้องกันและการดูแลผิว

  1. การดูแลผิวของผู้ป่วย
  • ทำความสะอาดผิวหนังเป็นประจำสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่กับคราบปัสสาวะ อุจจาระ หรือเหงื่อ และเมื่อทำความสะอาดเสร็จเช็ดผิวหนังให้แห้งอย่าปล่อยให้เปียกชื้น
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวชนิดอ่อน เพื่อป้องกันการระคายเคืองต่อผิวหนัง
  • ตรวจสอบผิวหนังอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบริเวณปุ่มกระดูก อย่างน้อยวันละหนึ่งครั้ง
  1. การจัดท่านอน
  • การจัดท่านอนผู้ป่วยไม่ควรนอนท่าเดิมนาน ๆ ควรพลิกเปลี่ยนท่าทุก ๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมงต่อครั้ง โดยนอนพลิกตะแคงหรือนอนหงายสลับกัน
  • การจัดท่านอนควรเว้นช่องว่างระหว่างปุ่มกระดูก ไม่นอนทับปุ่มกระดูกโดยตรง เพื่อลดแรงกด โดยการจัดท่าอาจใช้ที่นอนที่มีร่อง ใช้หมอนรอง หรืออาจใช้ผ้าที่เรียบและไม่มีรอยย่น
  1. อุปกรณ์เสริม
  • แผ่นรองตัว (Overlay) จะช่วยลดแรงกดและกระจายแรงบริเวณปุ่มประดูก โดยมีหลายรูปแบบให้เลือก ทั้งแบบที่เป็นเบาะลมหรือฟองน้ำธรรมดา (Static support surface) ที่เหมาะกับผู้ป่วยยังไม่มีแผลหรือแบบทีใช้มอเตอร์ไฟฟ้าปั๊มลมให้ถุงลมยุบ-พองสลับกัน (Dynamic support surface) ซึ่งใช้แพร่หลายตามโรงพยาบาล
  • เบาะรองนั่ง (Seat cushion) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่จะต้องนั่งรถเข็นเป็นระยะเวลานาน ซึ่งจะช่วยลดลงแรงกดที่กระดูกเชิงกราน โดยมีทั้งชนิดที่เป็นแบบฟองน้ำ แบบเจล และแบบลม

การรักษาทางกายภาพบำบัด

  1. การกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical stimulator) ใช้สำหรับแผลที่มีความรุนแรงระดับ 3-4 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา การติดกระตุ้นไฟฟ้าจะช่วยเร่งกระบวนการซ่อมแซม ทำให้แผลหายได้ไวขึ้นเมื่อใช้ร่วมกับการรักษาแผลตามวิธีมาตราฐาน
  2. Ultrasound diathermy ช่วยเพิ่มเมตาบอลิซึมของเซลล์ กระตุ้นการทำงานของเซลล์ให้สร้างเส้นใย และแมคโครฟาจ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
  3. เลเซอร์ (Low energy laser therapy) ช่วยกระตุ้นแมคโครฟาจ เซล์สร้างเส้นใย และคอลลาเจน
  4. ธาราบำบัด (Hydrotherapy) เหมาะสำหรับแผลที่มีเนื้อตายและมีปริมาณ exudate มาก เช่น การแช่ถังน้ำวน (Whirlpool) ซึ่งจะใช้แรงน้ำชะล้างแผล และควรหยุดเมื่อแผลสะอาดแล้ว เพราะแรงน้ำสามารถทำลายเนื้อเยื่อใหม่ซึ่งเปราะบางได้

 

เอกสารอ้างอิง

1.การฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีแผลกดทับ (Pressure Ulcer Management) อ.พญ.ปรัชญาพร คำเมืองลือ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

  1. Pressure injury พว.นลินี แข็งสาริกิจ ET NURSE โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์
  2. Miller-Keane Encyclopedia and Dictionary of Medicine, Nursing, and Allied Health, Seventh Edition. © 2003 by Saunders, an imprint of Elsevier, Inc.

อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

FACEBOOK :: ReBRAIN

 

โทร.
Scroll to Top