Boston Brace อุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกายสำหรับผู้ป่วย โรคกระดูกสันหลังคด
โรคกระดูกสันหลังคดเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ โดยจะมีความผิดปกติที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกลงไปจนถึงกระดูกสันหลังส่วนล่าง ซึ่งเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้อหลังที่ไม่แข็งแรง การสะพายกระเป๋าที่หนักเกินไป เป็นต้น ส่งผลให้กระดูกสันหลังเกิดการคดงอ ทำให้ร่างกายเกิดอาการปวด หายใจได้ไม่สะดวกและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ในวันนี้ทาง ReBRAIN จะมาอธิบายถึงอุปกรณ์ช่วยพยุงที่สามารถช่วยจัดแนวกระดูกสันหลังให้เป็นปกติมากขึ้น มีชื่อว่า Boston Brace อุปกรณ์ตัวนี้สามารถช่วยทำให้อาการกระดูกสันหลังคดดีขึ้นได้ยังไงและต้องใช้เวลาไหนบ้าง
โรคกระดูกสันหลังคด เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคขึ้น ซึ่งพบมากในกลุ่มวัยเด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้กระดูกสันหลังคดยังมีสาเหตุการเกิดอื่นๆ ด้วย ได้แก่
1.กระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด โดยเกิดจากความผิดปกติของการสร้างกระดูกสันหลังตั้งแต่แรกเกิด
2. กระดูกสันหลังคดจากท่าทางของร่างกายที่ผิดปกติ เช่น การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน หรือการสะพายกระเป๋า กิจกรรมอื่นๆที่ทำให้ร่างกายไม่สมดุลซ้ำๆเป็นระยะเวลานานๆติดต่อกัน
3. กระดูกสันหลังคดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทควบคุมกล้ามเนื้อสันหลังไม่สามารถรักษาแนวของกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวปกติได้
4. กระดูกสันหลังเสื่อม พบมากในผู้สูงอายุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตามวัย
กระดูกสันหลังคดสามารถแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1. กระดูกสันหลังคดส่วนอก
2.กระดูกสันหลังคดหลังส่วนล่าง
3. กระดูกสันหลังคดระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกและหลังส่วนล่าง
4. กระดูกสันหลังคดแบบคดโค้ง 2 ส่วน (ทั้งส่วนอกและหลังส่วนล่าง) ดังรูป
ภาพ 1 : ประเภทของกระดูกสันหลังคดในแต่ละรูปแบบ
อาการของโรคกระดูกสันหลังคด สามารถสังเกตได้โดย
1. ระดับหัวไหล่ทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน
2.ระดับกระดูกสะบักนูนไม่เท่ากัน
3. ระดับเอวทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน
4. ระดับสะโพกทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน
สำหรับการวินิจฉัยโรค สามารถทำการทดสอบ เรียกว่า Adam’s Forward-ฺBending Test เป็นการตรวจวัดว่ามีอาการกระดูกสันหลังคดหรือไม่ด้วยการให้ผู้ทดสอบยืนแล้วค่อยๆก้มตัวลง จากนั้นสังเกตแนวกระดูกสะบักทั้งสองข้างว่าเท่ากันหรือไม่ ถ้ามีข้างใดข้างหนึ่งนูนออกมาให้สันนิษฐานว่ามีภาวะอาการของโรคกระดูกสันหลังคด ร่วมกับใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า “Scoliometer” ในการวัดองศาความโค้งของกระดูกสันหลัง สำหรับทางการแพทย์จะใช้การเอกซ์เรย์ และการตรวจวัดมุมองศาของกระดูกสันหลังด้วย เรียกว่า “มุม Cobb angle”
ภาพที่ 2 : Scoliometers สำหรับการวัดกระดูกสันหลังคด
ภาพที่ 3 : การวัดมุม Cobb angle โดยใช้การวัดจากภาพถ่ายเอกซ์เรย์
การรักษา แพทย์จะพิจารณาจากมุมองศาของกระดูกสันหลังคด ถ้ามุมองศาของกระดูกสันหลังคดอยู่ที่ 20-30 องศา แพทย์จะพิจารณาให้ทำกายภาพบำบัด ซึ่งการรักษาทางกายภาพบำบัดจะเน้นการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการจัดท่าทาง ถ้ามุมองศาของกระดูกสันหลังคดอยู่ที่ 45 องศาขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดจัดแนวกระดูกสันหลัง ส่วนมุมกระดูกสันหลังคดช่วง 30-45 แพทย์จะพิจารณาให้ใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงเป็นชุด เรียกว่า “brace” ควบคู่กับการออกกำลังกายทางกายภาพบำบัด
Boston Brace เป็นชุดอุปกรณ์ช่วยพยุงร่างกาย ที่นิยมใช้รักษาในคนไข้โรคกระดูกสันหลังคด โดยชุด Boston brace จะออกแรงกดในบริเวณที่กระดูกสันหลังคดโค้งเพื่อให้แนวของกระดูกสันหลังกลับมาเป็นแนวเดิมให้มากที่สุด ป้องกันไม่ให้แนวกระดูกสันหลังคดโค้งมากขึ้น และช่วยบรรเทาอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลังที่คดได้ ชุดดังกล่าวจะต้องมีการสั่งทำโดยเฉพาะเพื่อให้เหมาะกับขนาดร่างกายของผู้ป่วย
ภาพที่ 4 Boston Brace
จากงานวิจัยของ Wiley J. W และคณะ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการรักษาด้วย Boston Brace ในคนไข้วัยรุ่นที่มีภาวะกระดูกสันหลังคดโดยมีองศาการคดของกระดูกระหว่าง 35 ถึง 45 องศา จำนวน 50 คน โดยแบ่งกลุ่มทดสอบเป็น 3 กลุ่มเพื่อเปรียบเทียบผล กลุ่ม 1 ให้คนไข้ใส่ Boston Brace วันละ 18 ชั่วโมงขึ้นไป กลุ่ม 2 ให้คนไข้ใส่ Boston Brace วันละ 12-18 ชั่วโมง และ กลุ่ม 3 ให้คนไข้ใส่ Boston Brace วันละน้อยกว่า 12 ชั่วโมง พบว่า ในกลุ่มที่ใส่มากกว่า 18 ชั่วโมง ให้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและช่วยลดองศาความโค้งของกระดูกสันหลังลงได้
ดังนั้นการใส่ Boston Brace ในคนไข้กระดูกสันหลังคดจึงแนะนำให้ใส่ต่อวัน วันละประมาณ 18- 23 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ตัวชุดสามารถจัดระเบียบกระดูกสันหลังให้เป็นแนวเดิมร่วมกับการทำกายภาพบำบัดในการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงกระดูกสันหลัง จะช่วยทำให้อาการกระดูกสันหลังคดลดลงและสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ
เอกสารอ้างอิง
1. Janicki JA, Alman B. Scoliosis: Review of diagnosis and treatment. Paediatrics & child health. 2007; 12(9): 771-6.
- Lafage V, Dubousset J, Lavaste F, Skalli W. Finite element simulation of various strategies for CD correction. Studies in health technology and informatics. 2002; 91: 428-32.
- Wang J, Zhang J, Xu R, Chen TG, Zhou KS, Zhang HH. Measurement of scoliosis Cobb angle by end vertebra tilt angle method. Journal of orthopaedic surgery and research. 2018; 13(1): 223.
- Wiley JW, Thomson JD, Mitchell TM, Smith BG, Banta JV. Effectiveness of the boston brace in treatment of large curves in adolescent idiopathic scoliosis. Spine. 2000; 25(18): 2326-32.