อุปกรณ์ช่วยเดิน “Walker”
หลายคนเคยเห็นหรืออาจจะอุปกรณ์ช่วยเดินสี่ขาที่เรียกว่า “วอคเกอร์ ” กันมาแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า วอคเกอร์ มีข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง ใครบ้างที่ควรใช้ แล้วที่เราหรือคนอื่นใช้กันนั้นใช้อย่างถูกต้องหรือไม่
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ “วอคเกอร์ (Walker)” กันก่อนว่า วอคเกอร์ คืออะไร วอคเกอร์ เป็นอุปกรณ์ช่วยเดินที่มีทั้งหมด 4 ขา ผลิตจากวัสดุหลากชนิด เช่น อลูมิเนียม พลาสติก หรือเหล็ก มีปลอกหุ้มที่ปลายฐาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในขณะใช้งาน
ปัจจุบันมีทั้งวอคเกอร์แบบธรรมดา วอคเกอร์ขาพับได้ วอคเกอร์มีล้อ วอคเกอร์แบบนั่งได้
โดยขาของฐานวอคเกอร์จะเป็นเมนหลักในการรองรับน้ำหนัก และช่วยพยุงน้ำหนักของแรงกดที่ผู้ใช้งานกดลงไปที่ฐาน
วอคเกอร์เหมาะกับคนไหนบ้าง
1.ผู้สูงอายุที่มีความคล่องตัวในการทรงตัวและการเดินที่ลดลง
2.ผู้ที่มีความบกพร่องด้านการทรงตัวและการก้าวเดิน
3.ผู้ใช้งานที่อยู่ในระหว่างการทำกายภาพบำบัด ที่ต้องฝึกการก้าวเท้าเดิน ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกาย
คนที่ไม่ควรใช้วอคเกอร์ ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีความอ่อนแรงของแขนทั้งสองข้าง และผู้ป่วยพาร์กินสัน หรือแรงแขนทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน
ข้อดีของวอคเกอร์ ได้แก่ มีความมั่นคงสูง ช่วยลดการลงน้ำหนักของขาข้างที่บาดเจ็บได้
ข้อเสีย อันใหญ่เทอะทะ เดินได้ช้า และไม่สามารถใช้เดินขึ้น ลงบันไดได้
วิธีวัดวอคเกอร์ ให้เหมาะกับเรา คือ ควรวัดความสูงของเครื่องช่วยเดินชนิดนี้ให้เหมาะสม สามารถวัดได้โดยให้ มือจับ อยู่ในระดับเดียวกับปุ่มกระดูกขาด้านนอก หรือเรียกว่า Greater trochanter ของกระดูกต้นขาหรือเรียกว่า Femur bone ของผู้ป่วย
ในขณะเดิน เท้าควรอยู่ระหว่างขาด้านหลังของวอคเกอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียหลักหงายไปด้านหลัง ถ้าก้าวเดินไปชิดขาด้านหน้าของวอคเกอร์
วิธีการใช้ วอคเกอร์ (Walker) แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่1 ให้ผู้ป่วยยกวอคเกอร์ ไปทางด้านหน้าแล้ววางให้ขาทั้ง 4 ลงพื้นเรียบร้อยในระยะทางที่ก้าวเท้าปกติของผู้ป่วย
ขั้นตอนที่ 2 ก้าวขาข้างที่เจ็บหรือข้างที่แย่กว่าเข้าไปให้ถึงกึ่งกลางของวอคเกอร์ แล้ววางเท้าให้ตรง
ขั้นตอนที่ 3 ออกแรงกดวอคเกอร์ด้วยมื้อทั้ง 2 ข้าง ลงน้ำหนักเท่าที่ไม่มีอาการเจ็บ จากนั้นจึงก้าวขาข้างดีตามมา
Reference:
ณัชชา ตระการจันทร์ และพัศจีพร ยศพิทักษ. (2561). การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม. วารสารศูนย์อนามัยที่ 9. 14(34): 271-284.
ถนัดกิจ ทะนันไชย และคณะ. (2563). การออกแบบอุปกรณ์ช่วยพยุงเดินผู้สูงอายุตำบลบ้านดู่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย. วารสารศิลปศาสตร มทร.กรุงเทพ. 2(1): 54-66.