การตรวจประเมินคุณภาพ การเคลื่อนไหว (Quality of Movement, QOM)

การตรวจประเมินคุณภาพ การเคลื่อนไหว (Quality of Movement, QOM)

         การประเมินคุณภาพของ การเคลื่อนไหว เป็นกระบวนการที่ใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และความปลอดภัยของการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายเช่น ผู้ป่วย นักกีฬา หรือบุคคลทั่วไปที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว เพื่อสามารถระบุปัญหาหรือความผิดปกติในการเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ และช่วยในการวางแผนการรักษา ฟื้นฟูให้เหมาะสม และป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ซึ่งวันนี้ทาง ReBRAIN จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการตรวจประเมิน QOM

         Quality of Movement (QOM) หมายถึงความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพและมีความถูกต้อง การประเมินคุณภาพการเคลื่อนไหวไม่ได้เน้นแค่องศาของการเคลื่อนไหว (Range of Motion) หรือความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับความราบเรียบ ความแม่นยำ และการควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน หรือกิจกรรมทางกายต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

องค์ประกอบหลักของ Quality of Movement

  1. การควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor Control) การควบคุมการเคลื่อนไหวคือ ความสามารถของสมองและระบบประสาทในการประสานงานกับกล้ามเนื้อและข้อต่อ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลและมีประสิทธิภาพ ความบกพร่องในการควบคุมการเคลื่อนไหวอาจส่งผลให้เกิดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ผิดพลาดหรือมีประสิทธิภาพต่ำ ซึ่งอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บหรือความเจ็บปวดเรื้อรัง
  2. ท่าทางและการจัดตำแหน่งร่างกาย (Posture and Alignment) ท่าทางและการจัดตำแหน่งของร่างกายมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวที่มีคุณภาพ หากร่างกายจัดตำแหน่งไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดความเครียดในข้อต่อหรือกล้ามเนื้อเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ไม่สมดุลและอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
  3. ความสมดุลและการประสานงาน (Balance and Coordination) ความสามารถในการรักษาความสมดุลของร่างกายและการประสานงานระหว่างกล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญในการเคลื่อนไหวที่มีประสิทธิภาพ หากความสมดุลหรือการประสานงานผิดปกติ การเคลื่อนไหวอาจกลายเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ราบรื่น หรือมีความเสี่ยงต่อการล้มและบาดเจ็บ
  4. ความยืดหยุ่นและช่วงการเคลื่อนไหว (Flexibility and Range of Motion) ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและความสามารถในการขยับข้อต่อได้อย่างเต็มที่ช่วยให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่นและลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บ การประเมินความยืดหยุ่นและช่วงการเคลื่อนไหวช่วยให้สามารถตรวจสอบข้อจำกัดหรือปัญหาที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพการเคลื่อนไหว
  5. ความแข็งแรงและพละกำลัง (Strength and Power) ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสม หากกล้ามเนื้อบางกลุ่มมีความแข็งแรงไม่เพียงพออาจส่งผลให้เกิดการเคลื่อนไหวชดเชยจากกล้ามเนื้อกลุ่มอื่น ซึ่งนำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ไม่สมดุล การประเมินความแข็งแรงควรควบคู่กับการประเมินพละกำลัง (การผลิตแรงในระยะเวลาอันสั้น) เพื่อเข้าใจประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวของแต่ละบุคคล
  6. การรับรู้ตำแหน่งของร่างกาย (Proprioception) คือความสามารถของร่างกายในการรับรู้ตำแหน่งและการเคลื่อนไหว การประเมิน proprioception เป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาความสมดุลและการทำงานที่ถูกต้องของกล้ามเนื้อ หากระบบนี้ผิดปกติจะส่งผลให้การเคลื่อนไหวขาดความแม่นยำและขาดความสามารถในการประสานงาน

ระดับคุณภาพของการเคลื่อนไหว
การระบุระดับของคุณภาพของการเคลื่อนไหว จะพิจารณาจาก
1. ความสามารถในการเริ่มต้นการเคลื่อนไหว (Voluntary movement initiation)
2. องศาของการเคลื่อนไหว (Range of motion)
3. การเคลื่อนไหวทดแทน (Compensatory movement)
4. ความราบเรียบและความแม่นยำในการเคลื่อนไหว (Smooth and Accuracy)

เกณฑ์การระบุระดับคุณภาพของการเคลื่อนไหว

Grade Definition
Normal การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างปกติ คือเต็มช่วงองศาการเคลื่อนไหว เป็นไปอย่างราบเรียบและแม่นยำและไม่พบการเคลื่อนไหวทดแทน
Good การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นเต็มช่วงองศาตามที่กำหนด แต่การเคลื่อนไหวนั้นไม่ราบเรียบและ/หรือไม่แม่นยำ อย่างไรก็ตามไม่พบการเคลื่อนไหวทดแทน
Fair การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นเต็มช่วงองศาตามที่กำหนด แต่การเคลื่อนไหวนั้นไม่ราบเรียบและ/หรือไม่แม่นยำ รวมทั้งพบการเคลื่อนไหวทดแทน
Poor การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนั้นไม่เต็มช่วงองศาตามที่กำหนด และอาจพบว่าการเคลื่อนไหวนั้นไม่ราบเรียบและ/หรือไม่แม่นยำ รวมทั้งสามารถพบการเคลื่อนไหวทดแทนได้
Zero ไม่พบการเคลื่อนไหวหรือการทำงานของกล้ามเนื้อ

 

ทิศทางการเคลื่อนไหวที่ใช้ในการประเมินประกอบด้วย

  1. 1. QOM of Upper Extremity

1.1) Scapular protraction (เอื้อมแขนขึ้นหาเพดาน)
1.2) Shoulder flexion/Extension with elbow Straight (ยกแขนขึ้นลงศอกเหยียดตรง)
1.3) Shoulder Adduction/abduction with elbow straight (หุบแขน กางแขนศอกเหยียดตรง)
1.4) Shoulder flexion/extension with elbow flexion (มือจับไหล่ตรงข้ามยกศอกขึ้นลง)
1.5) Shoulder Adduction/abduction with elbow flexion (มือจับหน้าผากหุบแขน กางแขน)
1.6) Elbow Extension/flexion (มือวางหน้าผากเหยียดศอกขึ้นตรง และวางลงที่เดิม)
1.7) Forearm pronation/supination (คว่ำหงายมือโดยหมุนแขนท่อนล่าง)

  1. QOM of Lower Extremity

2.1) Hip flexion with knee flexion (งอเข่างอสะโพกเข้าหาลำตัวโดยฝ่าเท้าสัมผัสพื้นตลอดในท่านอน)
2.2) Hip flexion with knee extension (ยกขาขึ้นในขณะที่เข่าเหยียดตรง)
2.3) Hip extension (ชันเข่าที่ต้องการทดสอบออกแรงกดที่ฝ่าเท้าร่วมกับยกสะโพกขึ้น)
2.4) Hip extension (inner range) (ลำตัวทำมุมเฉียงกับเตียงขาข้างที่ทดสอบยื่นออกมาขอบเตียง สะโพกงอเล็กน้อย ฝ่าเท้าสัมผัสพื้นตลอดออกแรงกดที่ฝ่าเท้าร่วมกับยกสะโพกขึ้น)
2.5) Hip adduction/abduction (ชันเข่าขาข้างที่ทดสอบหุบขาเข้าหาลำตัวและกางออก)
2.6) Knee extension/flexion (ขาท่อนล่างวางพ้นขอบเตียง ฝ่าเท้าสัมผัสพื้นแล้วเหยียดเข่าตรงและงอเข่า)
2.7) Ankle dorsiflexion (ชันเข่าแล้วกระดกข้อเท้าขึ้น)

  1. 3. QOM of Hand and Finger

3.1) Wrist extension (จัดศอก 90 องศาแขนแนบลำตัวแล้วกระดกข้อมือออกนอกลำตัวและเข้าหาลำตัว)
3.2) Wrist radial deviation (จัดศอก 90 องศาแขนแนบลำตัวแล้วกระดกข้อมือร่วมกับเบี่ยงข้อมือไปด้านนิ้วโป้ง)
3.3) Grasp and release (จัดศอก 90 องศาแขนแนบลำตัวแล้วกำมือแบมือ)
3.4) Finger opposition (จัดศอก 90 องศาแขนแนบลำตัวแล้วใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือไปแตะกับปลายนิ้วชี้ กลาง นาง ก้อย)

 

 

  1. 4. QOM of abdominal

4.1) Trunk flexion

มีการตรวจ 3 ท่า

  1. นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง แล้วยกศีรษะขึ้นให้พ้นเตียง
  2. นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง แล้วหมุนเข่าทั้ง 2 ข้างไปทางด้านซ้ายให้สัมผัสเตียงแล้วยกศีรษะให้พ้นเตียง
  3. นอนหงายชันเข่า 2 ข้าง แล้วหมุนเข่าทั้ง 2 ข้างไปทางด้านขวาให้สัมผัสเตียงแล้วยกศีรษะให้พ้นเตียง

การประเมิน QOM ครอบคลุมหลายองค์ประกอบสำคัญเช่น การควบคุมการเคลื่อนไหว ท่าทางและการจัดตำแหน่งร่างกาย ความสมดุล ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง และการรับรู้ตำแหน่งของร่างกาย แต่ละองค์ประกอบมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเคลื่อนไหว การตรวจประเมิน QOM ช่วยให้เราสามารถเข้าใจรูปแบบการเคลื่อนไหวที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่ปลอดภัยและเหมาะสมตามสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล

 

เอกสารอ้างอิง

  1. Barton, C. J., Lack, S.,(2013). Gluteal muscle activity and patellofemoral pain syndrome: A systematic review.” British Journal of Sports Medicine, 47(4), 207-214.
  2. Chuter,V. H., & Janse de Jonge,(2012).Proprioception, gait and falls in older adults: A systematic review and meta-analysis, Age and Ageing, 41(5), 584-590.
  3. Somnurk Songwanit, Physical therapy management in neurological patients,(2022),74-83.

อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

FACEBOOK :: ReBRAIN

 

 

 

โทร.
Scroll to Top