กายภาพบำบัดกับการ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

กายภาพบำบัดกับการ ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อเข่าเป็นส่วนที่มีการเคลื่อนไหวและรับแรงกดกระแทกจากการทำกิจวัตรต่างๆ และเกิดภาวะเสื่อมได้มากที่สุดข้อต่อหนึ่ง โรคข้อเข่าเสื่อมถือเป็นปัญหารุนแรงที่มักจะต้องมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งในปัจจุบันวิวัฒนาการของข้อเข่าเทียมถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับชีวกลศาสตร์ของข้อเข่า ซึ่งไม่เพียงแต่ลดอาการปวดแต่ยังเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าให้เคลื่อนได้ดีขึ้นอีกด้วย

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

– มีอาการเจ็บปวดข้อเข่ารุนแรง และส่งผลต่อคุณภาพการเคลื่อนไหว

– การรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดได้

– ผู้ป่วยมีสุขภาพทั่วไปดีพอที่จะเข้ารับการผ่าตัด

 การเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้ดังนี้

1.ข้อเข่าอาจมีการถูกจำกัด การเคลื่อนไหว

2.ข้อเข่าขาดความมั่นคง

3.อาการปวด

ซึ่งการผ่าตัดอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเอ็นข้อต่อและมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าทำให้เข่าขาดความมั่นคง ขยับข้อเข่าได้ไม่เต็มที่เกิดข้อติด ซึ่งผู้ป่วยควรจะเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดและเข้ารับการรักษาฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดหลังเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เพื่อให้ข้อเข่ากลับมาใช้งานได้ปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งภาวะที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่มีหากคุณมีการเตรียมตัวที่ดีและได้รับการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด

เป้าหมายและวิธีการเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด

1.เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพกและขา เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง พร้อมทำงานหลังจากผ่าตัด ซึ่งโดยปกติหลังผ่าตัดกล้ามเนื้อจะมีอาการบาดเจ็บทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลง เมื่อมีการเคลื่อนไหวข้อเข่าจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้การฟื้นฟูเป็นไปได้ช้าลง โดยสามารถออกกำลังกายได้ดังนี้

ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อสะโพก ให้นอนหงายชันเข่าขึ้นทั้งสองข้าง แขม่วท้องและออกแรงยกก้นขึ้นค้างไว้ 5 วินาที โดยทำ 15 ครั้ง 2 รอบ

– ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา ให้นั่งห้อยขาข้างเตียง เตะขาพร้อมกระดก       ปลายเท้าขึ้นค้างไว้ 5 วินาที โดยทำ 15 ครั้ง 2 รอบ โดยสามารถเพิ่มความหนักได้โดยการใส่ถุงทรายที่ข้อเท้าเพื่อเป็นการเพิ่มแรงต้าน

2.คงสภาพการเคลื่อนไหวข้อเข่า โดยให้ผู้ป่วยพยายามเหยียดและงอเข่าให้สุดเท่าที่สามารถทำได้

 

เป้าหมายและการฟื้นฟูหลังการผ่าตัด

1.เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วที่สุด

2.เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

3.เพื่อเพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวข้อเข่า

4.เพื่อควบคุมอาการปวด

5.เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

 

โดยการฟื้นฟูและการออกกำลังกายหลังผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  1. ระยะแรก หมายถึง 6 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด เน้นลดอาการปวด ลดบวมในช่วง 1-2 วันแรก ส่วนวันอื่นๆ เน้นเพิ่มองศาการเคลื่อนไหว
  • 24 ชั่วโมงแรก ให้นอนเหยียดขาตรง ใช้ผ้าขนหนูรองใต้ข้อเท้าเพื่อให้เข่าเหยียดตรง และกระดก ข้อเท้าขึ้น-ลงเพื่อทำให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น ร่วมกับการประคบเย็น ครั้งละ 15-20 นาที
  • หลังผ่าตัด 24 – 48 ชั่วโมง ให้บริหารกล้ามเนื้อโดยเหยียดเข่าให้ข้อพับติดเตียง เกร็งค้างไว้ 5-10 วินาที เริ่มลุกขึ้นนั่งบนเตียงได้ เริ่มบริหารงอและเหยียดเข่าบนเตียงได้ และเริ่มฝึกเดินโดยได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดเพื่อให้สามารถเดินโดยใช้อุปกรณ์ หรือไม้ค้ำยันได้อย่างถูกต้อง
  • หลังผ่าตัดวันที่ 2 ลุกนั่งได้ 20-30 นาที บริหารการเคลื่อนไหวข้อเข่า โดยงอเข่าลงข้างเตียง ฝึกงอเข่าจนได้ 0 – 60 องศา
  • หลังผ่าตัดวันที่ 3 เดิน 5 – 10 เมตร จำนวน 3 – 4 ครั้ง/วัน ฝึกงอเข่าจนได้ 0 – 70 องศา
  • หลังผ่าตัดวันที่ 4 เพิ่มระยะการฝึกเดินเป็น 10 – 20 เมตร ฝึกงอเข่าจนได้ 0 – 80 องศา
  • หลังผ่าตัดวันที่ 5 ฝึกเดินระยะทาง 10 – 20 เมตรและฝึกงอเข่าจนได้ 0 – 90 องศา กระตุ้นการขึ้นลงบันไดโดยมีอุปกรณ์ช่วย
  • หลังผ่าตัด 2 – 6 สัปดาห์ ฝึกเดินโดยใช้ไม้ค้ำยัน ระยะทางเพิ่มขึ้นเป็น 50 – 100 เมตร ฝึกงอเข่า จนได้ 0 – 110 องศา ผู้ป่วยสามารถเดินลงน้ำหนักได้เต็มที่โดยใช้อุปกรณ์ช่วย
  1. ระยะกลาง ปลายสัปดาห์ที่ 6 – สัปดาห์ที่ 12 เน้นการลงน้ำหนักเพื่อเริ่มส่งเสริมการทำกิจวัตรประจำวัน
  • ระยะ 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน หลังผ่าตัด สามารถเดินโดยไม่ใช้ไม้ค้ำยันหรืออุปกรณ์ช่วยเป็นระยะทาง 200 เมตรโดยไม่มีอาการปวด ฝึกงอเข่าจนได้ 0 – 115 องศาขึ้นไป
  1. ระยะหลัง 3 เดือนขึ้นไป เน้นเพิ่มการทำกิจวัตรประจำวัน
  • เน้นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยออกกำลังกาย เช่น ว่ายน้ำ แอโรบิกเบาๆ โดยหลีกเลี่ยงกีฬาที่ต้องมีแรงมากระแทกที่ข้อเข่า
  • การควบคุมท่าทางขณะทำกิจวัตรประจำวัน

ท่านอน ให้นอนหงายเหยียดเข่าตรง ผ้าขนหนูรองปลายเท้า

ท่านั่ง นั่งนานๆอาจทำให้ข้อติดและบวมได้ ไม่ควรนั่งนานเก้น 45 นาที

 

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยลดอาการเจ็บปวด ลดอาการเสื่อมที่ข้อเข่าได้         และทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ดี    ก่อนรับการผ่าตัดและไม่ได้รับการฟื้นฟูที่เหมาะสมหลังการผ่าตัด  อาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนั้นเมื่อได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อจึงไม่ควรที่จะละเลยการฟื้นฟูและออกกำลังกาย โดยการได้รับคำแนะนำจากนักกายภาพบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้คุณมีการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดที่ดีและถูกต้อง   และยังสามารถช่วยให้คุณสามารถฟื้นฟูข้อเข่าให้กลับมาใช้งานได้เป็นปกติเร็วขึ้นอีกด้วย

Reference

  1. ณัชชา ตระการจันทร์. การฟื้นฟูสมรรถภาพหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม วารสารศูนย์อนามัยที่ 9. 2563; 14(34), 271-284.
  2. ผกาภรณ์ พู่เจริญ. Arthroplasty and physical therapy management. 2563; 8-11.

 

อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

FACEBOOK :: ReBRAIN

โทร.
Scroll to Top