ฝึกกลืน ง่ายๆได้ที่บ้าน
ฝึกกลืน ทำได้ง่ายๆที่บ้าน สวัสดีค่ะ วันนี้กลับมาพบกับนักกิจกรรมบำบัดกันเช่นเคยนะคะ ในครั้งนี้เราจะมาสอนวิธีการบริหารกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืนด้วยตนเองง่ายๆที่บ้านกันค่ะ
ประโยชน์ของการบริหารกล้ามเนื้อที่ช่วยในการกลืน(ปาก ลิ้น คอหอย ขากรรไกร)
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืน เพื่อการเตรียมพร้อมก่อนการรับประทานอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว ใช้ลิ้นคลุกเคล้าอาหาร และเคลื่อนอาหารลงไปยังคอหอย
- ลดความเสี่ยงต่อการสำลักอาหาร
- เพิ่มประสิทธิภาพในการพูดสื่อสาร และการออกเสียง
- ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง ภาวะขากรรไกรติดแข็ง เป็นต้น
โดยวิธีการบริหารกล้ามเนื้อปากที่จะยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ผู้ป่วยควรจะมีการตื่นตัวดี และสามารถทำตามคำสั่งได้บ้าง เน้นให้ผู้ป่วยได้ทำ และออกแรงเองเป็นหลัก สามารถทำได้ทุกวัน วันละ 1-2 ครั้ง มาเริ่มกันที่ท่าแรกกันเลยค่ะ
การบริหารกล้ามเนื้อริมฝีปาก และกระพุ้งแก้ม
- อ้าปากกว้างๆ หรือ พูดคำว่า “อา” 10 ครั้ง
- ห่อปาก หรือ พูดคำว่า “อู” 10 ครั้ง
- ฉีกยิ้ม หรือ พูดคำว่า “อี” 10 ครั้ง
- จากนั้นฝึกเปลี่ยนรูปปาก พูดคำว่า “อา อู อี” สลับกัน 10 ครั้ง
- เม้มริมฝีปากแน่นๆ และผ่อนคลาย หรือ ทำท่าเปาะปากให้เกิดเสียง 10 ครั้ง
- ออกแรงทำเสียง “จุ๊บ” 10 ครั้ง
- อมลมไว้ในปาก ทำแก้มป่อง 10 ครั้ง
- อมลมไว้ที่แก้มแล้วย้ายไปทางซ้าย-ขวา สลับกัน 10 ครั้ง
การบริหารกล้ามเนื้อลิ้น
- แลบลิ้นออกมานอกริมฝีปาก และหดลิ้นเข้าไปในปากสลับกัน 10 ครั้ง
- แลบลิ้นแตะมุมปากซ้าย-ขวา สลับกัน 10 ครั้ง
- แลบลิ้นขึ้นนำไปแตะริมฝีปากด้านบน 10 ครั้ง
- แลบลิ้นเลียรอบริมฝีปาก 10 ครั้ง
- พูดคำว่า “ลา ลา” 10 ครั้ง (ปลายลิ้น)
- พูดคำว่า “คา คา” 10 ครั้ง (โคนลิ้น)
- พูดคำว่า “คา ลา คา ลา” 10 ครั้ง
การบริหารขากรรไกร
- เคลื่อนขากรรไกรไปข้างหน้า-หลัง 10 ครั้ง
- เคลื่อนขากรรไกรไปซ้าย-ขวา 10 ครั้ง
การบริหารคอ
- หันศีรษะไปทางซ้าย-ขวา สลับกัน 10 ครั้ง
- ก้ม-เงยศีระษะ 10 ครั้ง
- เอียงศีรษะไปทางซ้าย-ขวา พยายามเอาหูกดลงไปชิดกับไหล่ 10 ครั้ง
การบริหารกล้ามเนื้อที่ช่วยในการยกตัวของกล่องเสียง
การยกตัวของกล่องเสียงเป็นกระบวนการหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกลืน ซึ่งเกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณใต้คางหดตัว เคลื่อนที่ ถ้าหากกล้ามเนื้อบริเวณนี้อ่อนแรงจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสำลักได้ จึงควรมีการบริหารกล้ามเนื้อนี้ซึ่งช่วยในการกลืนอย่างสม่ำเสมอด้วยค่ะ
ข้อควรระวัง : ไม่ควรทำในผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกคอเสื่อม และความดันโลหิตสูง
- Shaker’s exercise :
21.1 นอนราบกับพื้น ไม่หนุนหมอน ให้ออกแรงยกศีรษะขึ้นมองไปที่ปลายเท้า คางชิดอก โดยที่ไหล่ และหลังท่อนบนต้องติดชิดพื้น จากนั้นค่อยๆวางศีรษะลง ทำสลับกัน 10 ครั้ง ให้ครบ 3 เซ็ต โดยในแต่ละเซ็ต ให้พัก 30 วินาทีถึง 1 นาที
21.2 นอนราบกับพื้นเช่นเดียวกับข้อที่ 1 ยกศีรษะขึ้นมองปลายเท้าเกร็งค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นวางศีรษะลง ทำซ้ำให้ครบ 3 เซ็ต โดยในละเซ็ต ให้พัก 30 วินาทีถึง 1 นาที
- ใช้ลูกบอลนิ่มวางไว้ใต้คาง ออกแรงกดลูกบอลค้างไว้ 10 วินาที จากนั้นผ่อนคลาย ทำซ้ำให้ครบ 3 เซ็ต
แหล่งอ้างอิง
1.กลุ่มวิจัยภาวะกลืนลำบาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2560). คู่มือการฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกลืนลำบาก (พิมพ์ครั้งที่ 2). ขอนแก่น: หจก. โรงพิมพ์ คลังนานาวิทยา.