ภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดสมอง

ภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดสมอง ป้องกันได้ หากจัดการได้ถูกวิธี

ภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดสมอง ภายหลังจากผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง กลับจากโรงพยาบาลมาอยู่ที่บ้าน ต้องระวังภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง วันนี้ ReBRAIN จะมารู้เกี่ยวกับ ภาวะแทรกซ้อนที่ อาจจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย หากได้รับการดูแลรักษา ที่ไม่เพียงพอ ภาวะแทรกซ้อน (Complication) คือ ภาวะที่ไม่พึงประสงค์ ที่เกิดร่วมกับอาการเจ็บป่วยในปัจจุบัน หากผู้ป่วยได้รับ การดูแลรักษาที่ไม่เพียงพอ ซึ่งจะนำไปสู่ความผิดปกติ ในหลายส่วนของร่างกาย ทำให้ต้องเข้ารับการรักษา ที่โรงพยาบาลบ่อย เพิ่มโอกาสเสี่ยง ในการเสียชีวิต รวมถึงยังเพิ่มค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล และคุณภาพชีวิตลดลง

ภาวะแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้น ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง

  1. แผลกดทับ (Bed sore) เกิดจากเนื้อเยื่อ ที่ถูกกดทับเป็นระยะเวลานาน จนทำให้บริเวณนั้น ขาดเลือดมาเลี้ยง ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น ได้รับสารอาหาร และ ออกซิเจนไม่เพียงพอ จึงเกิดการตายของเนื้อเยื่อ และเป็นแผลตามมา
  2. ภาวะความดันตก ระหว่างเปลี่ยนท่าทาง (Orthostatic hypotension) เกิดจากการที่ผู้ป่วย อยู่ในท่านอนเป็นระยะเวลานาน และเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางแล้วเกิดความดันโลหิตตัวบน (Systolic blood pressure) ลดลงมากกว่า 20 mmHg เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมอง ไม่เพียงพอ จึงเกิดอาการ หน้ามืด มึนหัว ตาพร่ามัว
  3. ข้อต่อยึดติด (Joint stiffness) กล้ามเนื้อตึง (Muscle tightness) เกิดจากการที่ผู้ป่วย ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย อยู่ในท่าเดิม เป็นระยะเวลานาน หรือ มีการหดเกร็ง ของกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหดตัว อยู่ตลอดเวลา ร่วมกับ ขาดการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึงตัว และถ้ายังหากปล่อยไว้เป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้ข้อต่อยึดติดตามมา ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเมื่อขยับและเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มช่วงการเคลื่อนไหว
  4. ข้อไหล่หลวม (Shoulder subluxation) เกิดจากพยาธิสภาพ ของผู้ป่วยที่มีการอ่อนแรงครึ่งซีก ทำให้มีการเคลื่อนไหว แขนด้านที่อ่อนแรงลดลง และเมื่อมีการเคลื่อนไหว ของแขนที่ไม่ถูกวิธี จะส่งผลให้เยื่อหุ้มข้อไหล่ และ เอ็นกล้ามเนื้อถูกการดึงยืด ทำให้ผู้ป่วย มีอาการปวดไหล่ได้ง่าย และ อาจนำไปสู่การเกิดภาวะ ข้อไหล่เคลื่อนหลวม (Shoulder subluxation)
  5. ภาวะปอดแฟบ (Atelectasis) เกิดจากการที่ผู้ป่วย อยู่ในท่านอนเป็นระยะเวลานาน ทำให้ปอดขยายได้ไม่เต็มที่ ถุงลมเกิดการแลกเปลี่ยนแก๊สลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วย มีอาการหายใจสั้นตื้น และ หอบเหนื่อยได้ง่าย
  6. การสำลักอาหาร ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง มักมีปัญหาด้านการกลืน เนื่องจากกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง กับการกลืนอ่อนแรงลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีการสำลักอาหารได้ง่าย และ ถ้าหากสำลักอาหารลงระบบทางเดินหายใจไป ก็จะนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อ ตามมาได้
  7. ภาวะปอดติดเชื้อ (Pneumonia) อาจเกิดจากการสำลักอาหาร หรือ การขยายตัวของปอดที่ลดลงจากการนอนนาน ทำให้การระบายเสมหะในร่างกายลดลง และ เกิดการสะสม ของเชื้อแบคทีเรีย หรือ ไวรัส ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ ในระบบทางเดินหายใจตามมา
  8. ภาวะลิ่มเลือดอุดหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep vein thrombosis) เกิดการที่ผู้ป่วย ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย หรือ ความผิดปกติของหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดการตกตะกอน แล้วเกิดเป็นลิ่มเลือดตามมา ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไม่ดี เกิดอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ลิ่มเลือดอุดตันตามมา
  9. การล้ม (Falling) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมอง มักมีอาการอ่อนแรงของร่างกายครึ่งซีก ปัญหาการรักษาสมดุลในการทรงท่า ทำให้ความมั่นคงในการนั่ง ยืนและเดินลดลง ส่งผลให้ผู้ป่วยมี โอกาสที่จะหกล้มได้ง่าย ซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บ ฟกช้ำ กระดูกหัก หรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
  10. ภาวะซึมเศร้าหลังโรคหลอดเลือดสมอง (Post-Stroke depression) เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ ที่เกิดหลังโรคหลอดเลือดในสมอง จากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหรือสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ผุ้ป่วยรู้สึกเศร้า ไร้ค่า ไม่มีสมาธิ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย

จะเห็นได้ว่าภาวะแทรกซ้อนต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย หากผู้ป่วยขาดการดูแลรักษาที่ถูกวิธีหรือขาดการดูแลที่เพียงพอ ความรุนแรงของภาวะแทรกซ้อนอาจเพิ่มมากขึ้นถ้าหากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดในสมองเป็นผู้สูงอายุหรือเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองควรเริ่มตั้งแต่อยู่ภายในโรงพยาบาลจนถึงกลับมารักษาตัวที่บ้าน หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง

 

แหล่งอ้างอิง

เอกสารประกอบการสอนวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู สำหรับนักศึกษาแพทย์ปี4 เรื่องเวชศาสตร์ฟื้นฟูในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke rehabilitation) มหาวิทยาลัยขอนแก่น

https://nestcarejob.com/blogs/5thing-to-prevent-bedridden

https://www.paolohospital.com/th-

อ่านบทความเพิ่มเติม ที่นี่

FACEBOOK :: ReBRAIN

โทร.
Scroll to Top