การผ่าตัดโรค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยใช้เลเซอร์ดียังไง 

 การผ่าตัดโรค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โดยใช้เลเซอร์ดียังไง 

โรค หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท นั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ที่ก้าวไกล ทันสมัย มากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก และ มีแนวโน้มจะพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวหรือมีโอกาสในการรอดชีวิตสูงมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็คือ การใช้เลเซอร์(Laser) ในการรักษา ทั้งการใช้เลเซอร์แก้ปัญหาสายตา การใช้เลเซอร์ทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และหัวข้อที่เราจะมาพูดถึงในวันนี้ก็คือ การใช้เลเซอร์ในการผ่าตัด

การใช้เลเซอร์(Laser) ในการผ่าตัด จะมีผลของความร้อน และเลเซอร์มีคุณสมบัติถูกดูดซึมได้ดีในน้ำที่มีอยู่ในเซลล์ของร่างกาย ดังนั้นแผลที่ได้จากการผ่าตัดด้วยเลเซอร์จะมีขนาดเล็ก เนื้อเยื่อของร่างกายไม่บาดเจ็บเท่าการใช้ใบมีดผ่าตัด ส่งผลให้อาการปวดและอาการบวมอักเสบหลังผ่าตัดลดลง นอกจากนี้ในขณะที่ผ่าตัดด้วยเลเซอร์จะมีความร้อนจากแสงเลเซอร์ช่วยห้ามเลือด ทำให้เลือดออกน้อย และความร้อนจากลำแสงยังช่วยฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ในบริเวณที่ผ่าตัดได้ด้วย การใช้เลเซอร์ในการผ่าตัดมีข้อควรระวัง เพราะแสงเลเซอร์มีความเข้มสูง และหลายชนิดที่ตามองไม่เห็น จึงต้องระวังการสะท้อนเข้าตาเพราะทำให้ตาบอดได้ แพทย์และพยาบาลทุกคนต้องสวมแว่นตา ป้องกันแสงเลเซอร์สะท้อนเข้าตาทุกครั้งในขณะที่ปฏิบัติงาน

หนึ่งในการผ่าตัดโดยใช้เลเซอร์ที่ได้รับความนิยม คือการผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท (Herniated disc) โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีอาการปวดชามแนวที่เส้นประสาท ตั้งแต่บริเวณเอว ต้นขา น่อง ไปจนถึงบริเวณเท้า และนิ้วเท้าได้ หากอาการุนแรงผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนแรงที่ขาร่วมด้วย เนื่องจากเส้นประสาทเส้นที่ถูกกดทับ

สำหรับการผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทโดยใช้เลเซอร์ แพทย์ต้องคำนึงถึงชนิดของ Laser เพราะจะต้องไม่มีความร้อนเกิดขึ้นในขณะผ่าตัดมากพอที่จะทำลายเนื้อเยื่ออื่น ๆ โดยเฉพาะเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง เลเซอร์ที่ดีและเหมาะที่สุดสำหรับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลัง คือ Holmium Yag Laser เพราะพลังงานความร้อนที่กระจายไปในเนื้อเยื่อใกล้เคียง เพียงแค่ 0.2 มิลลิเมตร ดังนั้นโอกาสที่จะกระทบกระเทือนเส้นประสาทจึงน้อยมาก

การผ่าตัดโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทโดยใช้เลเซอร์ทำได้โดย ใช้กล้อง Endoscope ส่องผ่านแผลผ่าตัดขนาด 8 มิลลิเมตร หลังจากนั้นจะใช้เลเซอร์ทำให้เกิดพลังงานความร้อน และระเหยน้ำที่เป็นองค์ประกอบในหมอนรองกระดูกออกไป หลังจากนั้นก็จะพบว่าแรงดันของหมอนรองกระดูกสันหลังจะลดลงอย่างมาก เพียงแค่สามารถระเหยน้ำหรือส่วนของหมอนรองกระดูกเพียงแค่ 0.5-1 มิลลิลิตร ก็ทำให้อาการปวดร้าวหายไป เนื่องจากหมอนรองกระดูกกระทบกับเส้นประสาทลดลง

ข้อดีของการผ่าตัดด้วยเลเซอร์

  1. แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวและกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วัน
  2. อาการปวดและอาการบวมอักเสบหลังผ่าตัดน้อยกว่าการผ่าตัดโดยใช้ใบมีด
  3. ความร้อนจากแสงเลเซอร์ช่วยห้ามเลือด ทำให้เลือดออกน้อย
  4. ความร้อนจากลำแสงเลเซอร์ช่วยฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ ในบริเวณที่ผ่าตัดได้
  5. ลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อระบบประสาทบริเวณข้างเคียงได้ดี
  6. สามารถผ่าตัดในที่แคบหรือพื้นที่จำกัดได้ง่าย

จะเห็นได้ว่าการผ่าตัดด้วยเลเซอร์เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างได้ผลดี ผลข้างเคียงน้อย แต่อาจมีราคาหรือค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ซึ่งอาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยทุกคน ทั้งนี้การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ถือเป็นการรักษาทางเลือก การรักษาผู้ป่วยยังมีทางเลือกอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การผ่าตัดโดยใช้ใบมีด การทานยา หรือการทำกายภาพบำบัด ก็ถือเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่ายได้เช่นเดียวกัน

 

อ้างอิง

  1. วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ. โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคที่ป้องกันได้. วารสาร feature focus. 2561; 31-33
  2. นภาพร จันต๊ะรังษ. แนวทางการรักษาทางกายภาพบำบัดกับผู้ป่วยภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (Physical Therapy in patient with Herniate Nucleus Pulpous). วารสารหัวหินสุขใจไกลกังวล. 2560; 1-16

    อ่านบทความเพิ่มเติมที่นี่

    FACEBOOK :: ReBRAIN

โทร.
Scroll to Top