เบาหวาน ภัยเงียบที่นำไปสู่โรคหลอดเลือดในสมอง
เบาหวาน เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุ ถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง รักษาไม่หายขาด มีโอกาสเสี่ยงที่จะนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียอวัยวะหรือเสียชีวิตได้ โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดจำนวนมาก สาเหตุมาจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายบกพร่อง หรือร่างกายสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้น้อยหรือไม่ได้ เลยทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในกระแสเลือดไปใช้งานหรือกักเก็บได้ตามปกติ โดยอาการของโรคเบาหวานจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ หิวบ่อย กินจุ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย แผลหายช้า ผิวแห้ง ชาที่ปลายมือปลายเท้า ตาพร่ามัวและน้ำหนักลด
เมื่อร่างกายของเราเกิดภาวะที่มีปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดจำนวนมากเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการเผาผลาญพลังงานในระดับเซลล์ ทำให้การสร้างสารเคมีและสารสื่ออักเสบ มากกว่าปกติ หลอดเลือดแดงจึงเกิดการสูญเสียความยืดหยุ่น เปราะบางและฉีกขาดได้ง่าย ร่วมกับเมื่อมีปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดจำนวนมากจะทำให้การไหลเวียนของเลือดช้าลง เนื่องจากเลือดมีความหนืด เกล็ดเลือดจึงจับตัวกันเป็นก้อนง่ายมากขึ้น หากบริเวณหลอดเลือดแดงดังกล่าวมีการสะสมของไขมันแล้วเกิดการปริแตก จะส่งผลให้เกิดการรวมตัวกันระหว่างก้อนเลือดและไขมัน ไปเกาะอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดง ส่งผลให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายลดลง เรียกภาวะดังกล่าวว่า ภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (Atherosclerosis) ซึ่งเกิดได้กับหลอดเลือดแดงทุกส่วนของร่างกาย
ตามที่กล่าวข้างต้นว่า ภาวะหลอดเลือดแดงตีบแข็ง (Atherosclerosis) สามารถเกิดขึ้นได้กับหลอดเลือดแดงทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งหากเกิดกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนทำกิจวัตรประจำวันหรือการออกกำลังกาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจรุนแรงถึงหัวใจวายและเสียชีวิตได้ เรียกภาวะนี้ว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Ischemic heart disease) นอกจากนี้ หากเกิดกับเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง จะทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ผู้ป่วยเกิดอาการชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีก เรียกภาวะนี้ว่า โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Ischemic stroke)
ถึงแม้ว่าโรคเบาหวานจะไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง แต่เป็นภาวะที่ควรเฝ้าระวังและควบคุม ซึ่งโรคเบาหวานสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ อาจนำไปสู่ความพิการ หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงควรป้องกันด้วยการ
- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่เกณฑ์ปกติ อยู่ระหว่าง 70 -100 mg/dL ก่อนทานอาหาร
- ควบคุมระดับไขมันในเลือดให้อยู่เกณฑ์ปกติ LDL-cholesterol น้อยกว่า 100 mg/dL
- ควบคุมค่าความดันโลหิตให้อยู่เกณฑ์ปกติ น้อยกว่า 140/90 mmHg
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
- ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและรสหวาน
เอกสารอ้างอิง
สมศักดิ์ เทียมเกา. (2019). โรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดสมอง. วารสารประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย. 2019(35), 59-71
Diabetes is a disease often found in the elderly. Considered a chronic non-communicable disease Incurable There is a risk that can lead to complications that lead to the loss of organs or death. Diabetes is a condition in which the amount of sugar in the bloodstream is high. Caused by the impaired function of the hormone insulin in the body. Or the body produces little or no insulin hormone Therefore, the body is unable to use the sugar in the bloodstream to use or store normally. The symptoms of diabetes will result in patients having frequent hunger, eating, thirsty, frequent urination, slow healing wounds, dry skin, numbness on the hands and feet. Blurred vision and weight loss