โรค กิแลง บาร์แร ซินโดรม (Guillain-Barré Syndrome: GBS)
โรค กิแลง บาร์แร ซินโดรม (Guillain-Barré Syndrome: GBS) คือ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายที่พบได้น้อย เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายระบบประสาทส่วนปลาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางแปลงสัญญาณจากสมองส่งไปยังกล้ามเนื้อให้เกิดการเคลื่อนไหว เมื่อกล้ามเนื้อรับสัญญาณที่ส่งมาจากสมองไม่ได้ จึงส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเป็นอัมพาตได้ โดยสาเหตุการเกิดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มักเกิดขึ้นหลังจากติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ผู้ป่วยบางคนสามารถฟื้นฟูจนกลับมาเป็นปกติได้ ในขณะที่บางคนอาจเป็นแบบถาวร
โดยทั่วไปทุกคนมีโอกาสเป็นโรคกิแลง บาร์แร ซินโดรมได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป หรือผู้สูงอายุ จะมีความเสี่ยงมากที่สุด ซึ่งสองในสามของผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวจะมีอาการท้องเสีย หรือเป็นโรคทางเดินหายใจหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ติดต่อกันก่อนจะกลายเป็น GBS โดยสาเหตุมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Campylobacter jejuni ซึ่งทำให้มีภาวะอักเสบของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็ก อาการที่ตามมา ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อีกสาเหตุหนึ่งคือการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza) หรือเชื้อไวรัสอื่นๆ โดยโรคนี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทแรก คือ Acute inflammatory demyelinating polyradiculoneuropathy (AIPD) มีการอักเสบเฉียบพลันของเส้นประสาทแบบทำลายปลอกหุ้มเส้นประสาทไมอิลิน (Myelin sheath) ทำให้มีอาการอ่อนแรงทั่วร่างกายเริ่มจากลำตัวส่วนล่าง ลุกลามไปยังแขน และใบหน้า มักพบในแถบยุโรป และอเมริกาเหนือ ประเภทที่สอง คือ Miller fisher syndrome เริ่มจากกล้ามเนื้อตาเป็นอัมพาต (Ophthalmoplegia) เดินเซ (Ataxia) และขาดปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ (Areflexia) มักพบในแถบเอเชีย และประเภทที่สาม คือ Acute motor axonal neuropathy (AMAN) และ acute motor-sensory axonal neuropathy (AMSAN) มีพยาธิสภาพที่บริเวณเส้นใยประสาทของเซลล์ประสาทสั่งการ มักพบในแถบจีน ญี่ปุ่น และเม็กซิกัน การวินิจฉัยโรคทำได้โดยตรวจน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture) การตรวจกล้ามเนื้อและเส้นประสาทด้วยไฟฟ้า (Electromyography) การตรวจการนำไฟฟ้าของเส้นประสาท (Nerve conduction test) การตรวจพยาธิวิทยา และมักมีอาการแสดง ได้แก่ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงแบบสมมาตร การรับความรู้สึกผิดปกติ สูญเสียความรู้สึกเจ็บปวดและการรับความรู้สึกภายในข้อต่อ เป็นต้น
ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด แต่ในทางการแพทย์จะให้การรักษาด้วยการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าทางหลอดเลือดดำ (Intravenous immunoglobulin: IVIG) เพื่อช่วยยับยั้งแอนติบอดีที่ทำงานผิดปกติ หรือเปลี่ยนถ่ายพลาสมา (Plasmapheresis) เพื่อแยกแอนติบอดีที่ผิดปกติออกจากเลือด ทั้งสองการรักษาช่วยให้มีการฟื้นตัวได้ดี โดยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่อาจใช้เวลานานถึง 6 เดือนหรือมากกว่านั้นในการฟื้นฟูร่างกาย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
การรักษาทางกายภาพบำบัดสำหรับโรคกิแลง บาร์แร ซินโดรม จะเน้นที่การฟื้นฟูและการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด เช่น การลดอาการปวด การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ ซึ่งจากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายให้ผลลัพธ์ดีในด้านการเคลื่อนไหว แต่อย่างไรก็ตาม ควรออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสม หากออกกำลังกายหนักมากเกินไปสามารถทำให้การฟื้นฟูช้าลงได้ นอกจากนี้ต้องมีการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวและการทรงตัว รวมถึงช่วยให้กลับมาทำกิจวัตรประจำวัน และทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นได้
เอกสารอ้างอิง
มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์กายภาพบำบัด คณะกายภาพบำบัด. (2566). Guillain barre syndrome. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567, จาก https://pt.mahidol.ac.th/ptcenter/knowledge-article/guillain_barre_syndrome
Center for disease control and prevention. (2023) Guillain-Barre Syndrome. Retrieved June 10, 2024, from https://www.cdc.gov/vaccinesafety/concerns/guillain-barre-syndrome.html
Mayo clinic. (2024) Guillain-Barre Syndrome. Retrieved June 10, 2024, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/guillain-barre-syndrome/symptoms-causes/syc-20362793
Shahrizaila N.; et al. (2021). Guillain-Barre Syndrome. Retrieved June 10, 2024, from https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(21)00517-1/abstract