เอ็นไขว้หน้าฉีก ภัยเงียบของคนชอบออกกำลังกาย
เอ็นไขว้หน้าฉีก อาการปวดเข่าจากการเล่นกีฬา เป็นภาวะที่พบบ่อย ส่งผลให้นักกีฬามีประสิทธิภาพในการฝึกซ้อมหรือแข่งขันลดลง อาการปวดเหล่านี้หากจัดการไม่ถูกวิธีก็อาจส่งผลในระยะยาวจนทำให้นักกีฬาไม่สามารถกลับมาเล่นกีฬาชนิดนั้นได้อีก โดยจากการศึกษาของคุณ Majewski และคณะในปี 2006 ได้ทำการศึกษาอาการบาดเจ็บในนักกีฬากว่า 17,000 คน พบว่าร้อยละ 40 ของอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาเกิดขึ้นที่หัวเข่า ในบรรดาอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าทั้งหมดพบว่าร้อยละ 20 เกิดที่เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament) หรือที่รู้จักกันว่าเอ็นไขว้หน้าฉีก วันนี้เราจะมาให้ความรู้กันว่าอาการบาดเจ็บดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไรและสามารถป้องกันได้อย่างไรกัน
เอ็นไขว้หน้า (Anterior Cruciate Ligament, ACL) เป็นเอ็นที่เกาะจากกระดูกหน้าแข้งทางด้านในไปบรรจบที่กระดูกต้นขาทางด้านนอก หน้าที่หลักของเอ็นไขว้หน้าคือ ป้องกันไม่ให้กระดูกหน้าแข้งมีการเคลื่อนมาข้างหน้า ป้องกันไม่ให้เข่าแอ่น สาเหตุของการเกิดเอ็นไขว้หน้าฉีก มักมาจากมีแรงกระแทกที่หัวเข่าทางด้านนอก หรือมีแรงกระแทกหัวเข่าจากทางด้านหลัง ซึ่งมักพบในกีฬาที่มีการกระแทกเช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล หรืออาจเกิดจากการเสียหลักของนักกีฬาเองเช่น การเปลี่ยนทิศทางวิ่งอย่างรวดเร็ว หรือหยุดวิ่งกะทันหัน เป็นต้น
อาการและอาการแสดงของเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด ผู้ป่วยมักมีอาการปวดบริเวณด้านนอกไปทางด้านหลังของเข่า การเคลื่อนไหวของเข่าถูกจำกัดเนื่องจากการบวมหรืออาการปวด รู้สึกว่าเข่าหลวม คลอน ไม่มั่นคง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดินหรือวิ่งเปลี่ยนทิศทางกะทันหัน หรือหลังจากกระโดดลงสู่พื้น
การรักษาเอ็นไขว้หน้าฉีกในเบื้องต้นใช้หลักการ PRICE
Protection โดยการพันผ้ายืด เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย
Rest ลดการใช้งาน เดินลงน้ำหนักให้น้อยลง โดยอาจจะใช้ไม้ค้ำยันในการลดน้ำหนักที่กดลงข้อเข่า
Ice ใช้น้ำแข็งประคบครั้งละ 15 นาที วันละ 3 – 4 ครั้งต่อวัน เพื่อลดการอักเสบ
Compression ด้วย elastic bandage เพื่อลดอาการบวม
Elevation นอนยกเข่าสูงใช้หมอนรองใต้เข่าหรือส้นเท้า เพื่อลดอาการบวม
การรักษาในระยะยาว
ผู้ป่วยเอ็นไขว้หน้าขาดไม่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดทุกคน ผู้ป่วยที่มีเอ็นไขว้ฉีกขาดสามารถทำกิจกรรมที่ไม่มีการบิดหมุนของหัวเข่า ไม่วิ่งเปลี่ยนทิศทาง หรือไม่กระโดดได้เกือบปกติ เช่น วิ่งเหยาะๆ เป็นต้น และการรักษาโดยไม่ผ่าตัดที่เป็นที่นิยมก็คือ การทำกายภาพบำบัด เช่น การทำอัลตราซาวร์เพื่อลดอาการปวด การออกกำลังกายเพื่อคงองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่า การออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อเข่า ต้นขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring)
แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยต้องการกลับไปทำกิจกรรมที่ต้องมีการวิ่งเปลี่ยนทิศทางหรือกระโดดได้อย่างมั่นคง แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดสร้างเอ็นไขว้หน้า (ACL reconstruction) โดยแพทย์จะไม่เย็บซ่อมเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกขาดเนื่องจากผลของการเย็บซ่อมได้ผลที่ไม่ดี การผ่าตัดนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยมีการใช้งานของหัวเข่าได้ดีเหมือนหรือเกือบเหมือนเข่าปกติ ทำให้ระดับการเล่นกีฬากลับมาเหมือนหรือใกล้เคียงกับปกติและยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือการเสื่อมของอวัยวะอื่นๆ ในหัวเข่าได้ ผู้ป่วยหรือนักกีฬาที่ได้รับการผ่าตัดนี้ส่วนใหญ่สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ใน 6 เดือน หลังการผ่าตัด
จะเห็นได้ว่าการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายเป็นเรื่องที่พบได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่า ดังนั้นระหว่างออกกำลังกายอาจจะต้องใช้ความระมัดระวัง ศึกษาหาข้อมูลวิธีการเล่นกีฬาชนิดนั้นๆ อบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจตามมาในอนาคต
แหล่งอ้างอิง
ผศ.นพ.เมษัณฑ์ ปรมาธิกุล, อ.นพ.วริทธิ วัชรปรีชาสกุล. การประเมินและการรักษาภาวะหัวเข่าบาดเจ็บอันเนื่องมาจากการเล่นกีฬา (Management in Sports-Related Knee Injuries). 297-301.
Majewski M, Susanne H, Klaus S. Epidemiology of athletic knee injuries: A 10-year study. Knee. 2006; 13(3): 184-8.
anterior cruciate ligament tear The silent danger of exercise enthusiasts
anterior cruciate ligament tear knee pain from sports is a common condition As a result, athletes are less effective in training or competing. These pains, if not managed properly, can have long-term effects that prevent athletes from returning to that sport again. In a 2006 study by Majewski et al. of more than 17,000 athletes, it was found that 40 percent of sports injuries occurred in the knee. Of all knee injuries, 20% originated in the Anterior Cruciate Ligament, also known as an anterior cruciate ligament tear. Today we will come to know how such injuries occur and how they can be prevented.